กรุงเทพฯ 2 พ.ย.-สรท.เชื่อส่งออกไทยปีนี้โตแน่ร้อยละ 12 ส่วนปี 65 คาดการณ์ปีเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก แนะรัฐควรเร่งหาทางต่อลมหายใจกลุ่มธุรกิจ SMEs ไทยพร้อมมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุนและพนักงานด่วน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน 2564 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.1 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 760,556 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.83 แต่เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัวร้อยละ 14.8 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,426.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 30.3 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 750,267 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.4 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2564 เกินดุลเท่ากับ 609.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 10,289.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ ส่งผลให้การส่งออกช่วง 9 เดือนมกราคม – กันยายนของปี 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 199,997.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.5 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,202,170 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15 เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 20.4 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 197,980.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 30.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,226,790.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.5 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – กันยายน 2564 เกินดุล 2,016.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุล 24,620.7 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตร้อยละ 12 และคาดการณ์ปี 2565 เติบโตร้อยละ 5 โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1.ค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และปัญหา Space and Container allocation ไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดตู้สินค้าตกค้างไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด 2.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ 3.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาล็อคดาวน์จากการกลับมาระบาดของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น จีน สิงคโปร์ อังกฤษ รัสเชีย เป็นต้น ซึ่งแม้จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมภายในประเทศไทยจะลดลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ภาคโรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการทำงานเพื่อลดจำนวนพนักงานเข้าทำงานส่งผลกระทบต่อไลน์การผลิตเนื่องคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนพนักงานที่เข้าไลน์ผลิตได้บางส่วนภาครัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายวัคซีนสองเข็ม 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี รวมถึงแรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด 4.กระบวนการทำงานภาครัฐยังไม่สอดคล้องกับ New Normal อาทิ ความล่าช้าในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก (Vat Refund) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ สรท.ข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1.ด้านการตลาด อาทิ จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โครงการ SMEs Pro-active เพื่อเพิ่มจำนวนครั้งการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ (Virtual / Onsite exhibition 2022) ให้มากขึ้น 2.ด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจ เช่น ขยายระยะเวลาเงินช่วยเหลือลูกจ้างให้กับสถานประกอบการระดับ SMEs เช่น เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน เพื่อคงสถานะการจ้างงาน ลดต้นทุนพลังงานในประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เร่งปรับปรุงขั้นตอนการทำงานภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์และใช้ได้จริง 3.ด้านแรงงาน เช่น ยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน อาทิ สนับสนุนด้านภาษีและงบประมาณฝึกอบรมให้กับแรงงานและสถานประกอบการเพื่อ Re-skill และ Up-skill ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมภายใต้ New Normal เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็ว และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สร้างความตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจ (Carbon Emission Awareness) เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ เพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย