กรุงเทพฯ 3 เม.ย. – สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเสนอมาตรการ 3 เร่ง รับมือนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ของสหรัฐอเมริกา ชี้ภาษีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศปรับขึ้นกับไทย 37% สูงกว่าคาดการณ์ไว้มาก เตรียมหารือในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมเพื่อเจรจากับผู้นำเข้าของสหรัฐอเมริกา เชื่ออาจต่อรองในบางรายสินค้าได้เนื่องจากคนอเมริกันจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นเช่นกัน
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ซึ่งนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าที่จะปรับขึ้นจากประเทศคู่ค้า โดยไทยนั้นจะถูกปรับขึ้นเป็น 37% โดยระบุว่า เป็นเรื่องเกินความคาดหมาย เดิมภาคเอกชนประเมินว่า อยู่ระหว่าง 20-25% ก็จะได้รับผลกระทบมากแล้ว
ทั้งนี้ เชื่อว่าอัตรา 37% ไม่ได้คิดจากอัตราภาษีเฉลี่ยที่ไทยเก็บจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ไทยเก็บภาษีจากสหรัฐอเมริกามากกว่าที่สหรัฐอเมริกาเก็บจากไทยเฉลี่ย 11% ดังนั้นจึงเชื่อว่าอัตรา 37% มาจากการที่สหรัฐอเมริกาคำนวณจากดุลการค้าที่สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบประเทศไทยที่ 72% แล้วหารด้วย 2 หากสหรัฐอเมริกาคำนวณปริมาณดุลการค้าที่เสียให้แก่ประเทศคู่ค้า แล้วเก็บภาษีจากทุกประเทศตามดุลการค้า เศรษฐกิจทั่วโลกจะปั่นป่วนมากกว่านี้
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินตัวเลขผลกระทบเกี่ยวกับการส่งออกอย่างชัดเจนไม่ได้เนื่องจากในไตรมาส 2 จะยังคงมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าค้างอยู่ แต่ในเดือนพฤษภาคมจะประเมินตัวเลขเป็นรายกลุ่มสินค้าได้ เบื้องต้นเชื่อว่าบางรายสินค้าจะได้รับผลกระทบด้านความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศที่ถูกภาษีเก็บน้อยกว่า เช่น สับปะรดกระป๋องที่เราแข่งขันกับฟิลิปปินส์ ยางพาราซึ่งมาเลเซียเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ สินค้าอุปโภคบริโภคที่เวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ แม้ไทยจ่ายภาษีน้อยกว่า แต่เวียดนามมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าจึงได้เปรียบ ที่ผ่านมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตมาโดยตลอด
ทั้งนี้จะในกลุ่มอุตสาหกรรมจะร่วมหารือ ตลอดจนรวมตัวกันเพื่อที่จะไปเจรจากับผู้นำเข้าของสหรัฐอเมริกาว่า มีแนวทางใดที่จะผ่อนปรนเรื่องอัตราภาษีบางรายการได้บ้างเพื่อไม่ให้ชาวอเมริกันต้องใช้สินค้าในราคาที่สูงขึ้นด้วย แม้สหรัฐอเมริกาจะได้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงตาม จะทำให้อัตราการบริโภคในประเทศของสหรัฐอเมริกาลดลง กลายเป็น Domino effect
สำหรับข้อเสนอแนะของ สรท. ที่มีต่อภาครัฐในการรับมือมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐอเมริกาคือ มาตรการ “3 เร่ง” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) เร่งเจรจาสหรัฐ
- ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- เร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า
- ใช้แนวทาง ASEAN+ ในการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ
2) เร่งเจรจาและใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน
- เร่งปฏิรูปการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย
- สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบหลักการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมต้นน้ำและซัพพลายเออร์ภายในประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีการยกระดับ
- เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า จากการหลบเลี่ยงมาตรการสหรัฐเข้ามาทุ่มตลาดไทย รวมถึงการทำ re-export ผ่าน Free Zone
- ปฏิรูประบบโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของไทย ให้แข่งขันได้ อาทิ เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เร่งพัฒนาระบบ National Single Window ให้เป็น Single Submission โดยสมบูรณ์ เร่งรัดพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) และส่งเสริมการถ่ายลำ (Transshipment) เป็นต้น. -512 – สำนักข่าวไทย