กรุงเทพฯ 28 ต.ค.-ธปท.เผยผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 พบว่า คนไทยมีทักษะทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 71.0 สูงขึ้นจากปี 2559 และ 2561
นางนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 ซึ่งทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 11,901 ครัวเรือน พบว่า คนไทยมีระดับทักษะทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 71.0 สูงขึ้นจากปี 2559 และปี 2561 และสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ที่ร้อยละ 60.5 และดีขึ้นทุกด้าน โดยมีระดับความรู้ทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 62.9 พฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 71.1 และทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 82.0
ส่วนผลสำรวจความรู้ทางการเงินของคนไทย มีการปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 ในทุกหัวข้อ โดยจุดอ่อนของคนไทยที่ได้คะแนนน้อยสุด 3 อันดับแรก คือ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและมูลค่าเงินตามเวลา และหัวข้อที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD มากที่สุด คือ เรื่องนิยามเงินเฟ้อ รองลงมาเป็นหัวข้อความเสี่ยงและผลตอบแทน และการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ
สำหรับผลสำรวจทักษะทางการเงินจำแนกตามวัย พบว่า Gen Y คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี มีระดับทักษะทางการเงินดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น Gen X คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-54 ปี มีระดับทางการเงินค่อนข้างดี Gen Z คือ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีระดับทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย และ Gen Baby Boomer คือ มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป มีระดับทักษะทางการเงินน้อยที่สุด โดยจากการสำรวจพบว่า คนไทย 74.7% มีเงินออม และ 25.3% ไม่มีเงินออม.-สำนักข่าวไทย