นนทบุรี 27 ต.ค.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนกันยายน 2564 และไตรมาส 3/2564 ยังเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องแม้จะอยู่ในช่วงโควิด โดยบางธุรกิจโตสวนกระแส เช่น พืชสมุนไพร ยารักษาโรค หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการ เชื่อยอดจดทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งนิติบุคคลทั่วประเทศประจำเดือนกันยายน 2564 และไตรมาส 3/2564 โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกันยายน 2564มีจำนวน 5,820 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 มีมูลค่าทุนจดทะเบียนถึง 13,973.77 ล้านบาท ซึ่งมีประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 680 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 248 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ ส่งผลให้ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 3/2564 มีจำนวน 17,034 ราย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 16,841 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 แบ่งเป็นประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,929 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 725 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 622 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ โดยมีทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 39,350.24 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563 จำนวน 43,813.68 ล้านบาท ลดลงจำนวน 4,463.44 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 10
นอกจากนี้ หากดูยอดธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายน 2564 มีจำนวน 1,503 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 4 โดยมีมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,764.59 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยแยกประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 114 รายคิดเป็นร้อยละ 8 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 49 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ และหากดูธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 3/2564 มีจำนวน 3,819 ราย คิดเป็นมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 14,749.31 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 314 รายคิดเป็นร้อยละ 8 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 277 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ยอดธุรกิจตั้งใหม่ 9 เดือนตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2564 มียอดทั้งสิ้น 58,056 ราย ขณะที่ยอดเลิกกิจการในช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 8,749 ราย ทำให้ยอดธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนกันยายน 2564
ณ วันที่ 30 ก.ย. 64 ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 810,509 ราย มูลค่าทุน 19.41 ล้านล้านบาท และหากวิเคราะห์การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงในบ้างกิจการตามตัวเลขข้างต้นแล้วถือสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่าย ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์โดยทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน การปลดล็อคกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่มองเห็นช่องทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจจึงหันมาจัดตั้งธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ การผ่อนปรบมาตรการล็อคดาวน์ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรปรับตัว และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะหันมาจดทะเบียนตั้งใหม่กันมากขึ้น ทำให้กรมฯ ยังมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลือยอดการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ทั่วประเทศในปีนี้โอกาสยอดจะอยู่ที่ 65,000-70,000 รายได้.-สำนักข่าวไทย