กรุงเทพฯ 28 ก.ย.- ก.พลังงาน หารือรับมือราคาพลังงานพุ่ง เตรียมปรับเพดานวงเงินตรึงราคาแอลพีจีเป็น 2 หมื่นล้านบาท หารือสภาพัฒน์ ขอใช้เงินกู้โควิด-19 ด้าน ปตท.สั่งซื้อก๊าซอ่าวไทยเพิ่ม รับมือ “เอราวัณ” ผลิตก๊าซฯ ลดลง ยืนยันก๊าซฯ ไม่ขาดแคลน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในวันนี้ (28 ก.ย.) มีการหารือรับมือราคาน้ำมันดิบที่แตะ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล, ราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ราคาตลาดตะวันออกกลาง (ซีพี) ปรับตัวแตะ 770 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน นับเป็นราคาที่เหนือการคาดการณ์ ล่าสุด โกลด์แมน แซคส์ ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมคาด 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นผลจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากพิษโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมหารือว่าจะขยายกรอบดูแลราคาแอลพีจีเป็น 2 หมื่นล้านบาท จากกรอบปัจจุบัน 1.8 หมื่นล้านบาท หรือไม่ ที่มาของเงินดูแลจะมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ กำลังหารือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เงินส่วนนี้ ซึ่งตามกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ ระบุว่า หากให้กองทุนกู้เองจะกู้ได้ราว 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ จากราคาซีพีที่สูงถึง 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ทำให้ต้องใช้เงินดูแลราคาแอลพีจีที่ 318 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. เพิ่มขึ้น เงินกองทุนน้ำมันฯ จะไหลออกราว 1,700 ล้านบาท/เดือน หากดูแล 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.64) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต้องใช้เงินดูแลราว 5 พันล้านบาท โดยการตรึงราคาในประเทศราคานี้มีการใช้มาตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 มีการใช้วงเงินอุดหนุนแอลพีจีไปแล้วจนถึงวันที่ 26 ก.ย.64 ที่ 17,431 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 11,441 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือถึงการรับมือราคาดีเซลที่อาจแตะ 30 บาท/ลิตร อย่างไรก็ตาม ดีเซลพื้นฐานในประเทศ คือ บี 10 มีราคาล่าสุด 27.69 บาท/ลิตร ส่วน บี 7 มีราคา 30.69 บาท/ลิตร สัดส่วนการใช้ของประเทศอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น จึงเห็นว่าควรรณรงค์ให้มาใช้บี 10 เพราะราคาถูกกว่า 3 บาท/ลิตร และหากกองทุนฯ จะอุดหนุนก็ควรจะมาดูตามเกณฑ์มติ ครม. วันที่ 20 ต.ค.63 คือ หากราคาดีเซลขึ้นจนเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอัตรา 1 บาท/ลิตร ใน 1 สัปดาห์ จึงควรจะเข้ามาพิจารณาอุดหนุน
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. เปิดเผยว่า ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดราคาตลาดจร (spot LNG) อยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ในขณะที่ไทยต้องนำเข้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าราว 7-10 ลำ (ลำละประมาณ 6-7 หมื่นตัน) ในปลายปีนี้ โดย กฟผ.ได้รับการอนุมัตินำเข้าราว 2-4 ลำ ราคาที่สูงขึ้นเป็นผลจากช่วงหน้าหนาว และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว คาดราคาจะทรงตัวระดับสูงจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งในปีหน้าประเทศไทยคาดมีความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีราว 1.7-1.8 ล้านตัน ในส่วนนี้เป็นสัญญาระยะยาว (Long Term) ประมาณ 5.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการนำเข้าสัญญาตลาดจร เพื่อรองรับความต้องการก๊าซฯ ที่คาดว่าจะโตราวร้อยละ 3 จากที่ปีนี้มีความต้องการใช้ 4,500-4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามเศรษฐกิจที่โตขึ้น และทดแทนแหล่งเอราวัณที่ผลิตได้ต่ำกว่าแผนงานประมาณครึ่งหนึ่ง จากกรณีที่การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าแผน หลังจากหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเดิมนั้นกระทรวงพลังงานกำหนดการผลิตจากแห่งเอราวัณที่ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
“ราคาก๊าซแอลเอ็นจี ที่ปรับสูงขึ้น ราคาสปอตสูงถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนสัญญาระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งนักวิเคราะห์ทั่วโลกประเมินว่า นับจากนี้ไป ปริมาณแอลเอ็นจีจะค่อนข้างตึงตัว จากดีมานด์พุ่ง หลังโควิด-19 และโลกเข้าสู่ช่วงลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซฯ จึงเป็นเชื้อเพลิงช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน ดังนั้น โอกาสที่ราคาก๊าซฯ จะต่ำมาก อาจเป็นไปได้ยาก” นายวุฒิกร กล่าว
นายวุฒิกร กล่าวว่า ปตท.ได้ร่วมบริหารจัดการกับกระทรวงพลังงาน ในการดำเนินการให้ก๊าซฯ ไม่ขาดแคลน ช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการในแหล่งเอราวัณ ทั้งจัดหาแอลเอ็นจีเพิ่มเติม และมีการเรียกแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ทั้งแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และ JDA โดยล่าสุดทำสัญญารับซื้อเพิ่มจากแหล่งอ่าวไทย 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็นเวลา 1-2 ปี จึงขอให้มั่นใจก๊าซฯ ไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย