กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา สั่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังใน 19 จังหวัด แล้วให้ทุกหน่วยเข้าฟื้นฟูทันทีที่น้ำลด อธิบดีกรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าคลี่คลายสถานการณ์ ย้ำให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังฝนที่อาจตกหนักจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ตรวจสถานการณ์น้ำที่ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งมีประชาชนอาศัยตลอดแนว โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาว่า จากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบน จึงต้องเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายสูงขึ้น ขณะนี้น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำใน จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา แต่กรมชลประทานมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ และนนทบุรี
ทั้งนี้ กำชับให้ประสานกับทางจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยา เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำแก่ประชาชนเป็นระยะ หากเสี่ยงที่จะเกิดน้ำล้นตลิ่ง จะได้ยกของขึ้นที่สูงได้ทัน รวมทั้งต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ย้ำให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยให้เร็วที่สุด ขณะนี้เป็นห่วงเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 15 จังหวัด ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตร ให้คำแนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับการรับค่าชดเชยตามระเบียบราชการ และช่วยฟื้นฟูเพื่อบรรเทาความเสียหายแล้ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จังหวัดที่ประสบอุทกภัยมี 19 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี และนครสวรรค์ ระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าคลี่คลายสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่ โดยจะช่วยเหลือจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ (27 ก.ย.) ถึง 2 ต.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ซึ่งจะทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาพร่องน้ำในอ่างฯ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ ตรวจสอบอาคารชลประทาน รวมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อลดความตระหนกให้แก่ประชาชน
นายประพิศ กล่าวต่อว่า กรมชลประทานเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง และเร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสาร สถานการณ์น้ำ รวมไปถึงสภาพอากาศ จากทางหน่วยงานราชการเท่านั้น หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย