กรุงเทพฯ 22 ก.ย.- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่จัดตั้ง SCBX (เอสซีบี เอกซ์) เป็นบริษัทแม่ เพื่อความคล่องตัวลุยธุรกิจใหม่ ร่วมทุนพันธมิตร ทั้งซีพี, เอไอเอส และอื่นๆ ตั้งเป้า 5 ปี ฐานลูกค้าก้าวกระโดดเป็น 200 ล้านคน มาร์เก็ตแค็ป 2 ล้านล้านบาท
กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศวิสัยทัศน์องค์กร รับบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้าสองร้อยล้านคนพร้อมภารกิจเชื่อมต่อ ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ โดย “SCBX” จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวทางดำเนินการจะมีการเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในเดือน พ.ย.64 นี้ จัดตั้ง SCBX และจะเสนอ เพิกถอน (DELETE) ในส่วนของ ธนาคาร SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เตรียมทำ share swap ผู้ถือหุ้น SCB เป็น SCBX พร้อมดันเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นแทน SCB แต่จะใช้ชื่อในการซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดิม คือ SCB พร้อมทั้งขออนุมัติ SCB จ่ายปันผลระหว่างกาลพิเศษราว 7 หมื่นล้านบาท วงเงินนี้ จะไม่ได้จ่ายผู้ถือหุ้นในปีนี้ แต่จะแบ่งเป็น2 ส่วนหลักคือ กว่าร้อยละ 70 ให้ SCBX รองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจ และอีกกว่าร้อยละ 20-30 จะเป็นการจ่ายผู้ถือหุ้น ของ SCBX ในกลางปี 65 ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ90 ต้องเห็นชอบ ซึ่งหากเป็นไปตามแผน SCBX ก็จะคล่องตัวในการร่วมมือกันพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย และคาดใน 5 ปีข้างหน้า ผลตอบแทนจะพุ่งขึ้นเป็น1.5-2เท่า ฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเพิ่มเป็น 200 ล้านคน จากปัจจุบันมีราว 16 ล้านคน และ มาร์เก็ตแค็ป จะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ธุรกิจของ SCBX จะมีทั้งธุรกิจเก่า และธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างอัตราการเติบโตของกลุ่ม ให้เกิดความคล่องตัว ธนาคาร SCB ก็จะอยู่ใต้ SCBX และจะมีการปรับแยกธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลออกมา เป็นบริษัทใหม่ CARDX ในส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ก็จะมีการร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งบริษัทราว 15-16 บริษัท และตั้งเป้าหมาย 3-5 ปีข้างหน้าก็จะผลักดันบริษัทในเครือเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป โดยในส่วนของลูกค้าธนาคารและการทำหน้าที่ธนาคารที่แข็งแกร่ง บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตัวอย่างของบริษัทใหม่ที่สร้างอัตราการเติบโต เช่น เอสซีบี เท็นเอกซ์ บริษัทย่อย ร่วมมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีจี) ในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆโดยนอกเหนือจากการบริหารกองทุนร่วมกันแล้ว กลุ่มธนาคารและกลุ่มซีพีจีจะร่วมลงทุนในกองทุนนี้ร่วมกับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนรายย่อย (accredited investor) ซึ่งบริษัทนี้ จะมีการเชิญชวนพันธมิตรรายอื่นมาร่วมจัดตั้งกองทุนอีก 600 ล้านเหรียญในขณะที่ SCB และซีพีจี ร่วมทุนจัดตั้งแห่งละ 100 ล้านเหรียญ
SCB ยังร่วมทุนกับบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (MGC Group) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ชั้นนำในประเทศไทย จัดตั้ง บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X Co., Ltd.) ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท และมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 300,000,000 บาทภายใน 1 ปี มีวัตถุประสงค์หลักประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์(Big Bike) และยานพาหนะทางน้ำ (Yacht และ River Boat)
SCB ร่วมทุนกับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC หรือ AIS ร่วมกันจัดตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ บริษัท เอไอเอสซีบีจำกัด (AISCB Co., Ltd.) (AISCB) เพื่อประกอบธุรกิจใหบริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (DigitalLending) ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 600 ล้านบาท
สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ก็เนื่องมาจากมองว่า ปี 2025 เป็นการมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้ SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้
“SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้” นายอาทิตย์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย