กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – ธปท.เผยโควิดกระทบเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ส่งผลกำลังซื้อประชาชนลดลง ด้านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น รายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน
ด้านการส่งออกสินค้าแผ่วลง จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศ และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ โดยการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจาก supply disruption ชัดเจนขึ้น ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน ยังกดดันการผลิตในหลายหมวด
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากโครงการ Phuket Sandbox ที่เริ่มขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่รวมเงินโอนยังมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่ยืดเยื้อ
สำหรับแนวโน้มในเดือนสิงหาคม 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ส่วนกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) คลายมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ จะส่งผลกระทบให้การระบาดกลับมาใหม่หรือไม่นั้น ธปท. มองว่า ยังคงต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งความเชื่อมั่นของประชาชน มาตรการภาครัฐที่ออกมาควบคุมดูแลว่าจะมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด ผลกระทบจาก supply disruption รุนแรงขึ้นหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจนขึ้นในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย (กนง.) ครั้งถัดไป วันที่ 29 ก.ย.64 จะมีการประเมินภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้อีกครั้ง. – สำนักข่าวไทย