กรุงเทพฯ 30 ส.ค. – ธปท. จับมือกระทรวงการคลัง สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และ บสย. จัดตั้ง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน”
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้รายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการหายไปหรือลดลงมาก ลูกหนี้มีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ การให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนปรับปรุงกิจการ การแบ่งปันประสบการณ์การปรับตัวและปรับธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนการจัดบรรยายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่ตรงจุดตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม รวมทั้งการเผยแพร่คลิปและสื่อการสอนต่าง ๆ เพื่อให้นำไปศึกษาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับความรู้และความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาหนี้ ได้แก่ วิธีการเตรียมข้อมูลสำหรับเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การจัดทำแผนธุรกิจ ข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สิน ข้อมูลรายรับรายจ่าย เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งแนวทางการพูดคุยกับเจ้าหนี้ ตลอดจนข้อมูลมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง
นอกจากนี้ ความพิเศษของโครงการหมอหนี้ฯ คือ ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อขอคำแนะนำเชิงลึกเพิ่มเติมจากทีมหมอหนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. (บสย. FA Center) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษากับหมอหนี้ ผ่านเว็บไซด์โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือติดต่อสอบถามได้ทั้งที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพ และสำนักงานภาคของ ธปท. ทั้ง 3 แห่งที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ซึ่งเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บสย. ที่ได้ส่งเสริมบทบาทของ บสย. F.A. Center ในการให้คำปรึกษาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายย่อยหรือคนตัวเล็ก ส่วนใหญ่ประสบภาวะการเป็นหนี้และยังไม่มีวิธีแก้ไข ผลสุดท้ายอาจกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้การกู้เงินครั้งต่อไปประสบปัญหามากยิ่งขึ้น ในขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้ต้องใช้ที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง บสย. จึงอาสาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือหมอหนี้ ที่จะตรวจอาการคนไข้ เช็กสุขภาพ วินิจฉัยโรค ก่อนจะทำการรักษาโดยให้ยาหรือผ่าตัดจนหายดี และสุดท้ายฉีดวัคซีนทางการเงินให้พวกเขาไม่กลับมาป่วยอีก ตามเจตนารมณ์ที่จะแก้ปัญหาที่ฐานรากก่อนการอัดฉีดเงินทุนเข้าระบบ เพื่อให้ลูกหนี้มีช่องทางปลดภาระหนี้สิน และพร้อมทำมาหากินเพื่อสร้างรายได้ ตลอดจนสามารถปรับธุรกิจให้กลับมาดำเนินการได้อย่างมั่นคง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน และการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยการสร้างองค์ความรู้และวางแผนทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยให้การแก้ปัญหาหนี้สินมีความยั่งยืน เกิดประโยชน์ในระยะยาว อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ท้ายสุดแล้ว จะทำให้ลูกหนี้สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ขณะเดียวกัน นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานการเงิน รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. F.A. Center มีทีมที่ปรึกษาทางการเงินที่มีประสบการณ์สูง และคร่ำหวอดในแวดวงการเงินการธนาคารมานานกว่า 30 ปี ซึ่งล้วนแต่เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินชั้นนำ ที่พร้อมให้บริการปรึกษาเชิงลึกในโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทุกประเภทธุรกิจ ทุกสถาบันการเงิน ที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทั้งเรื่องการกู้เงิน การปรับโครงสร้างหนี้ การแก้โจทย์ธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs กลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน
นอกจากนี้ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสมาคมธนาคารไทยยังได้เข้าร่วมโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยได้ส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการเงิน ตลอดจนการแก้ไขหนี้ และร่วมเป็นทีมหมอหนี้
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือกับ ธปท. ในการส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสถาบันการเงินของรัฐเข้าร่วมทีมหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำแนวทาง รวมถึงให้ข้อมูลการแก้ไขปัญหาหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ แก่ลูกหนี้ทุกรายอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งช่วยเหลือประชาชน และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด 19 ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือช่วยให้ลูกหนี้ NPL ที่มีการค้างชำระหนี้ สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติต่อไป
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยได้ส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญร่วมให้คำปรึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจรในโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ตั้งแต่การประเมินและสำรวจภาระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ การวางแผนชำระคืนหนี้ รวมถึงแนวทางการปรับตัวในอนาคตเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย โดยจะเริ่มจากลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือของภาคธนาคารนอกจากมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของลูกหนี้
ธปท. กระทรวงการคลัง บสย. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย มุ่งหวังว่า “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านช่วงวิกฤติ และกลับมาฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หรือลงทะเบียนเพื่อรับคำปรึกษาเชิงลึก ได้ทางเว็บไซต์โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน (www.bot.or.th/app/doctordebt/) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213 และสำนักงานของ ธปท. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค . – สำนักข่าวไทย