กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – รฟม.เร่งประมูลรถไฟฟ้า “สายสีส้ม” หลังศาลจำหน่ายคดี ลุ้น ต.ค.นี้ขายซองอีกครั้ง คาด มี.ค.65 ได้ตัวผู้ร่วมทุน พร้อมปรับแผนเร่งงานระบบเปิดด้านตะวันออกกลางปี 68 ส่วน “สีม่วงใต้” ซื้อซองแล้ว 8 ราย ทั้งไทย-ต่างชาติ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้า การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูนราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยระบุว่า หลังจาก รฟม.ได้เปิดขาย ซองเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ตั้งแต่ 5 ก.ค.-7 ต.ค.2564 ปัจจุบันมีเอกชนสนใจซื้อเอกสาร 8 ราย แบ่งเป็นเอกชนไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย
ทั้งนี้ รฟม.กำหนดให้เอกชนยื่น ข้อเสนอได้ในวันที่ 8 ต.ค.2564 โดย รฟม.จะใช้เวลาพิจารณาถึงปลายเดือน ธ.ค.2564 และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้าง งานโยธาทั้ง 6 สัญญา ภายใน ม.ค.2565 ทั้งนี้ รฟม.ยืนยันว่า การประกวดราคาครั้งนี้ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ไม่ได้กีดกันบริษัทต่างชาติ
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม.ได้ยกเลิก ประกวดราคา และอยู่ระหว่างเตรียม ดำเนินการประกวดราคาครั้งใหม่นั้น ปัจจุบันเปิดรับฟังความเห็นเอกชนไปแล้ว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 เพื่อพิจารณาร่างทีโออาร์ใหม่ได้ เหตุ เพราะการประชุมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่บังคับใช้กับกรณีโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
“รฟม.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้เข้าร่วมการใช้ข้อตกลงคุณธรรม เราจึงมีหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อบรรจุสายสีส้มเข้าข้อตกลงคุณธรรม และกำลังรอหนังสือตอบกลับ เพื่อนำตัวแทนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ จากนั้น จะประชุมคณะกรรมการ ม.36 และพิจารณาทีโออาร์ครั้งใหม่”นายภคพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการประเมินกรอบ การดำเนินงาน คาดว่าเมื่อสามารถ เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมได้แล้ว จะมี การจัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 พิจารณาร่างทีโออาร์ฉบับใหม่ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน และออกประกาศเชิญชวนเอกชน โดยเบื้องต้นจะเชิญชวนเอกชนภายใน ต.ค.นี้ และให้เวลาเอกชนทำข้อเสนอ 60 วัน คาดว่าปลายไตรมาส 1 ปีหน้า ราว มี.ค.-เม.ย.2565 จะได้เอกชน ร่วมลงทุน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับโควิด -19
นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า หลังจาก ได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.จะเร่งรัดให้เอกชนเริ่ม ดำเนินโครงการให้เร็วที่สุด เพราะโครงการนี้ ล่าช้าจากโควิด และการใช้สิทธิตามกระบวนการศาล โดย รฟม.จะเร่งรัดให้เอกชนเริ่มติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่กำลังก่อสร้าง งานโยธาทันที เพื่อให้เปิดบริการ ในกลางปี 2568 ส่วนช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ- บางขุนนนท์ จะเปิดให้บริการปี 2571 .-สำนักข่าวไทย