กรุงเทพฯ 18 ส.ค.- ผู้ว่ากนอ.สั่งการนิคมฯ จัดทำคู่มือรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน (FAI) คุมเข้ม Bubble and Seal สกัดโควิด-19
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเชื้อไวรสโคโรโรน่า (Covid-19) มีการแพร่กระจายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแพร่ระบาดเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในหลายจังหวัด เพื่อให้การทำงานของสถานประกอบการสามารถดำเนินการต่อไปได้และยังสามารถควบคุมวงจรการแพร่เชื้อในสถานประกอบการได้นั้น จึงได้สั่งการนิคมอุตสาหกรรมจัดทำคู่มือและแผนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) และมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal โดยให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมเร่งปฏิบัติตามคู่มือและแผนการดำเนินงานเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในโรงงานที่อยู่ในทุกนิคมอุตสาหกรรม
“จากการประชุมร่วมกับ ผอ.นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศในครั้งนี้ ได้แจ้งถึงมาตรการ FAI และ Bubble and Seal ที่เป็นไปตามที่ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานและสถานประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องเร่งควบคุมและเฝ้าระวังป้องกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยล่าสุด กนอ. ได้มีประกาศ กนอ. ฉบับที่ 83/2564 เรื่องแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายวีริศ กล่าว
สำหรับมาตรการหลักของการทำ FAI เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจายออกนอกโรงงาน โดยรูปแบบที่เหมาะสมคือต้องมีเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงาน และต้องเพียงพอต่อการแยกกักตัว ต้องมีแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำได้ มีอุปกรณ์ตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน มีแนวทางส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน และมีการดูแลด้านโภชนาการอย่างครบถ้วน ขณะที่มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมโรค คนที่แข็งแรง หรือสามารถอยู่เป็นกลุ่มย่อยในพื้นที่จำกัด ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้ามีความชุกของการติดเชื้อมากกว่า 10% จะต้องแยกผู้ติดเชื้อออกแล้วให้ส่วนที่เหลือทำงานต่อ และเฝ้าสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยงต่อไป อย่างไรก็ตาม กนอ.มีแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามทั้ง 2 มาตรการ ได้แก่ การสนับสนุนสถานที่หรือช่วยจัดหาสถานที่ทำ FAI ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานราชการหรือโรงพยาบาล ตลอดจนจะจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น อาทิ ค่าชุด PPE สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ (PCR) ค่าชุดตรวจ (ATK) ค่าสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าอาหาร ค่าแพทย์ ค่ายารักษาโรค ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดไข้ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย