กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – ธปท. ชี้พักชำระหนี้ 2 เดือน แก้ปัญาหาตรงจุด พร้อมพิจารณาข้อดีข้อเสียการปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนและสินเชื่อบุคคล
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการทางการ ทั้งใน 10 จังหวัด และพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาด้านรายได้อย่างเร่งด่วนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด โดยลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564
ส่วนการพิจารณาขยายระยะพักหนี้เกิน 2 เดือนหรือไม่นั้น มองว่าทุกแบงก์มีมาตรการต่อเนื่องในการดูแลลูกค้าอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่ช่วยเหลือลูกหนี้ได้คือ การสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ดังนั้น ควรสนับสนุนการสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ประกอบการและลูกจ้าง การเร่งฉีดวัคซีน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเสริมสภาพคล่อง
ด้านความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้ว 72,391 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 23,687 ราย โดยมีวงเงินช่วยเหลือเฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท
ขณะที่การพิจารณาปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย โดยมองว่าอาจไม่เหมาะสมกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าหากลดเพดานดอกเบี้ยลงจะผลักให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งเข้าไม่ถึงดอกเบี้ยในระบบ และมีความเสี่ยงต้องไปกู้ยืมนอกระบบ ส่วนการปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์เอาไว้ ซึ่ง ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการดูแลลูกหนี้และผู้ประกอบการอย่างเหมาะสมต่อไป. – สำนักข่าวไทย