กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – รมว.ทส. พร้อมนำเสนอ “พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ผ่านการประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16 – 31 ก.ค. ยืนยันจุดยืนรัฐบาลไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่บ้านบางกลอยในทุกมิติตามหลักกฎหมาย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ไทยจะร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ผ่านระบบประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 16 – 31 ก.ค. นี้ โดยพร้อมนำเสนอ “พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน” โดยยืนยันว่า ได้ดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง จากที่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ในปี 2562 ขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง 2) การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และ 3) การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
นายวราวุธยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการครบถ้วนแล้ว ขอย้ำว่า ไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาโดยตลอด รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาแหล่งมรดกทางธรรมชาติทราบแล้ว นอกจากนี้ ในปี 2564 ไทยเชิญ IUCN มาติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อการดำเนินงานเพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก 3 ครั้ง แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19) จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติภารกิจได้
นายวราวุธกล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมถึงสิทธิในความมั่นคงและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงให้เห็นจากการปรับปรุงพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน เมื่อสำรวจการถือครองที่ดินของบ้านบางกลอยพบว่า มีราษฎรผู้ได้รับการตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่ 97 ราย สำรวจได้ 143 แปลง เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ โดยมอบผลการสำรวจและแผนที่ล่าสุดให้กับชุมชน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการพื้นที่และระงับข้อพิพาทในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยในปี 2562 จัดตั้งคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครอง (PAC) และแต่งตั้งผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอยเป็นกรรมการของ PAC แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยให้ผู้แทนชุมชนกะเหรี่ยง ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคม และผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน
ส่วนการเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จากเหตุการณ์ที่มีการจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปในพื้นที่ใจแผ่นดินเมื่อเดือนมีนาคมนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ขึ้น เพื่อรวบรวมปัญหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษารวบรวมข้อมูลประวัติความเป็นมา การตั้งถิ่นฐานชุมชนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย 2) คณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้ง การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย 3) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านคดีความ และให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย 4) คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า ต้นน้ำ และการบริการทางนิเวศ กรณีชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่อาศัยและทำกิน รวมทั้งดำเนินวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่บ้านบางกลอยบน และ 5) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อาศัย ที่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย โดยทั้ง 5 คณะประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
นายวราวุธยืนยันด้วยว่า จากการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา แสดงว่า การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งรวมถึงพื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีกระบวนรับฟังความคิดเห็นและมีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกับนานาชาติ โดยในปี 2562 IUCN ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำต่อการดำเนินงานเพื่อนำเสนอเป็นมรดกโลก ต่อมาในปี 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยเชิญผู้แทนรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลกที่มีถิ่นพำนักในราชอาณาจักรไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการและกิจกรรมในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง วิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย
นายวราวุธกล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสำรวจประชากรกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในบ้านบางกลอย ตั้งแต่ปี 2539 ถึงเดือนเมษายน 2564 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 400 คน ที่ผ่านมา มีหน่วยงานของรัฐกว่า 20 หน่วยงานเข้าไปดำเนินการโครงการต่างๆ 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพ และเสริมสร้างสุขอนามัย รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง สำหรับช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 หน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือประชากรในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนเช่น การสำรวจที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎรบ้านบางกลอย
จากการสำรวจยังพบว่า ปี 2539 มีผู้อพยพ 51 ราย มีที่ทำกิน 104 แปลง เนื้อที่ 500 ไร่ ต่อมามีผู้ครอบครองใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวขยาย รุ่นลูก/หลาน 44 ราย มีที่ทำกิน 50 แปลง เนื้อที่ 300 ไร่ รวม 800 ไร่ การสำรวจและขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติมและก่อสร้างระบบประปาบาดาลสำหรับการบริโภคในพื้นที่ พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ รวมถึง จุดบริการน้ำดื่มสะอาดผ่านระบบน้ำ RO (Reverse Osmosis) สำหรับชุมชน มีกeลังการผลิตได้สูงสุดวันละ 20,000 ลิตร/วัน และเปิดใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2664 การจ้างแรงงานในชุมชนกะเหรี่ยง เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในตำแหน่งงานต่าง ๆ เช่น การจ้างแรงงานทั่วไป พนักงานสัญญาจ้าง พนักงานประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานในหน่วยไฟป่า และแรงงานสำรวจแหล่งน้ำเบื้องต้น เป็นต้น โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 7.5 KW การจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินรวม 80 ไร่ ของราษฎร 8 ราย การสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนออกแบบการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ถังน้ำ และแนวท่อส่งน้ำเพื่อสนับสนุนแปลงสาธิต โดยสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี การขยายระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การส่งเสริมกองทุนต่างๆ ของชุมชน โรงสีกาแฟ พัฒนากิจกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม การถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกร และพัฒนากิจกรรมต่อเนื่องของกลุ่มอาชีพต่างๆ รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนโดยการแจกเครื่องอุปโภค บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง. – สำนักข่าวไทย