กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – หอการค้าไทย หารือรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ขอภาครัฐผ่อนผันกฎระเบียบเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเร่งฟื้นฟูภาคธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกล่าวว่า หอการค้าไทยกำลังเร่งดำเนินนโยบาย Connect the Dots ภารกิจ 99 วันแรกใน 3 ประเด็น ได้แก่ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ โดยในภารกิจเรื่องการฉีดวัคซีน มีความคืบหน้าไปมาก และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรองนายกฯ ได้ขอบคุณหอการค้าไทยและภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานเรื่องนี้
ส่วนภารกิจที่ 2 ในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น หอการค้าไทยเห็นว่า ผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และบางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ของภาครัฐได้ หอการค้าไทยและเครือข่าย จึงได้ดำเนินการเพื่อช่วยผู้ประกอบการในลักษณะโครงการ Sand Box ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง KBANK กับ CRC เพื่อสนับสนุนให้ SMEs รายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับ Retailer สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง และขยายธุรกิจ
“หอการค้าฯ ได้เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินมีอิสระในการใช้ดุลพินิจมากขึ้น โดยสถาบันทางการเงินจะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายมิติ ไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว รวมถึงการให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถคัดกรองและให้ข้อมูลผู้ขายแก่สถาบันทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงได้ นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจพิจารณาปลดล็อกให้ลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร หรือ NPL ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ ยิ่งต้องมีการดูแลผ่อนผัน เพื่อให้สถานะฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว” นายสนั่น กล่าว
สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จะแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยรายย่อย (เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน บุคคล) เหลือ 7-15 วัน และรายกลาง 30 วัน 2) Digital Factoring Platform ให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในเฟสแรก ซึ่งเป็น Sand Box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติ 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายผลผ่านสมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายในระยะต่อไป ตั้งเป้าหมาย SMEs เข้าร่วม 5 แสนรายทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน
ในขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์หรือหลักประกัน ให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต ได้ขอการพิจารณาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายมาตรการให้ครอบคลุมรวมถึงเงินให้กู้เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น ร้อยละ 30 ของหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักประกันเดิม หรือนำประกันใหม่มาวางประกันเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยกำลังสำรวจความเดือดร้อนของ SMEs รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และจะเดินสายหารือกับ CEO ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 แห่ง ทั้งนี้ ลูกหนี้และสถาบันการเงินจะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน มิฉะนั้น โครงการดีๆ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะสรุปผลได้ ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ รองนายกฯ จะเป็นแกนกลางนัดประชุมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน ในประเด็น พ.ร.บ.สินเชื่อ และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้อีกครั้งหนึ่ง” นายสนั่น กล่าว
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการ หอการค้าไทยกำลังดำเนินโครงการฮักไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเตรียมเปิดเมืองเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ชูจุดเด่น กิน เที่ยว ใช้ โดยนำร่อง Phuket Sandbox : HUG THAIS HUG PHUKET ร่วมกับ ททท. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมโรงแรม สมาคมสายการบิน สมาคมร้านอาหาร ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ และจะมีการลงนาม MOU ระหว่าง ททท. และหอการค้าไทย ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมเป็นประธาน โดยคาดว่าโครงการนี้จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท ใน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP ทั้งประเทศ และพยุงการจ้างงานกว่า 2 ล้านอัตรา
นอกจากนี้ ประเด็นสุดท้ายที่ได้มีการหารือกัน คือ เรื่อง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ (Ease of Doing Business) ซึ่งมีความคืบหน้าทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สะดวกมากขึ้น (Easier) รวดเร็วขึ้น (Faster) และภาระค่าใช้จ่ายลดลง (Cheaper)
นอกจากนั้น หอการค้าไทยกำลังผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์และแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงแรมฯ และการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคารโรงแรม เป็นอาคารสำหรับกิจการประเภทอื่น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นหัวหน้าทีม เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการประกอบธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยขอขยายเวลาใบอนุญาตก่อสร้าง กรณีอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงชนิดการใช้ประโยชน์อาคาร
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยวภายหลังการฉีดวัคซีนแล้ว ว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงมาตรการ Co Payment ในภาคท่องเที่ยวและบริการ จึงได้สั่งการให้สภาพัฒน์ฯ เข้ามาร่วมหารือกับภาคเอกชนในการหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะต้องช่วยกันคิดให้รอบคอบ เช่น การระบุตัวตนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะใช้เกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นมีทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ซึ่งผู้ที่อยู่นอกระบบจะดำเนินการได้ยากมาก แต่ก็พยายามหาหนทางกับเรื่องเหล่านี้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย.-สำนักข่าวไทย