กรุงเทพฯ 13 พ.ค.-รมว.คมนาคม เร่งสรุปแนวทางพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ภูเก็ต ให้ รฟม.และ กทพ. ทำ “แอคชั่นแพลน” ใน 2 สัปดาห์ ขณะที่ รฟม.สรุปผลศึกษา หากปรับรูปแบบโครงการเป็น “รถบัสอัจฉริยะที่ไร้คนขับ” หรือ (ART) จะช่วยลดเงินลงทุนโครงการ 15,289 ล้านบาท และลดระยะเวลาก่อสร้าง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง เป็นประธานการประชุมเรื่อง ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหลักในภูมิภาค สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านการขนส่ง นายสราวุธ ทรงศิริวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ร่วมประชุม
ที่ประชุม ได้หารือ 3 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย การทบทวนการคาดการณ์การเดินทางและผู้โดยสารของจังหวัดภูเก็ต และแนวทางการบริหารการจราจรขณะก่อสร้างทั้งระบบ โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้บูรณาการความร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. และรฟม. ทบทวนการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและการเดินทาง โดยวิเคราะห์ภาพรวมการเดินของจังหวัดภูเก็ต ได้ข้อสรุป 2ทางเลือกที่มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคม 2 คือ ทางเลือกที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชน และโครงการทางพิเศษตามแผนงานเดิม ที่มีกำหนดการเปิดให้บริการในปี 2569 และ 2571 ตามลำดับ โดยกรณีนี้ มีข้อดีคือ โครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน แต่ในระหว่างการก่อสร้างจะมีผลกระทบด้านการจราจรมาก ส่วน ทางเลือกที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษตามแผนงานเดิม (เปิดให้บริการปี 2571) แต่ชะลอแผนการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชน (กำหนดเปิดให้บริการปี 2573) เพื่อรอให้โครงการทางพิเศษบางส่วนเปิดให้บริการก่อน (กำหนดเปิดให้บริการ ปี 2571) ซึ่งกรณีนี้จะทำให้มีผลกระทบด้านการจราจรระหว่างการก่อสร้างน้อย เนื่องจากประชาชนมีโครงการทางพิเศษ เป็นทางเลือกในการเดินทาง
ส่วนการรายงานผลการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รฟม.ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่จากเทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลนครภูเก็ตได้มีหนังสือยินดีให้การสนับสนุนพื้นที่บริเวณถนนเทพกระษัตรีและถนนภูเก็ตแล้ว ส่วนการใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในระหว่างหน่วยงาน และ รฟม. จะได้จัดทำรายละเอียดเพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงานพิจารณาอนุญาต ต่อไป
และสุดท้าย คือการพิจารณาแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามนโยบายและรายละเอียดเทคนิคการก่อสร้างเพื่อลด รฟม.ได้พิจารณาทบทวนรูปแบบโครงการเป็นระบบ “รถบัสอัจฉริยะที่ไร้คนขับ” หรือ Automated Rapid Transit (ART) พบว่า จะทำให้กรอบวงเงินลงทุนโครงการลดลงประมาณ 15,289 ล้านบาท และลดระยะเวลาการก่อสร้างจากเดิม 9 เดือน ซึ่งผลจากต้นทุนที่ต่ำลง จะส่งผลให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงได้ โดยในเบื้องต้น มีแนวคิดจะกำหนดอัตราค่าโดยสารโดยแบ่งเป็น การเดินทางในเขตเมืองภูเก็ต การเดินทางนอกเขตเมือง และการเดินทางระหว่างเขตเมือง สำหรับเทคนิคการก่อสร้างจะเลือกใช้วิธีการก่อสร้างที่ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบ เช่น การใช้คอนกรีตหล่อสำเร็จ และการใช้ Launching Gantry เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการ ให้รฟม.และ กทพ.และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดทำแผนงานในรายละเอียด (Action Plan และ Timeline) สำหรับทั้งสองทางเลือกที่นำเสนอไว้ ภายใน 2 สัปดาห์ และเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงแล้ว ให้ทั้ง2 หน่วยงานลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในประเด็นทางเลือกการดำเนินโครงการทั้ง 2 ทางเลือก ทั้งนี้ ให้กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกกลุ่ม ก่อนสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาตัดสินใจ ต่อไป
ส่วน การพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยคำนึงถึงประชาชนเป็นลำดับแรก และเนื่องจากเป็นโครงการแรกที่จะใช้เทคโนโลยี Automated Rapid Transit (ART) ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยค้นคว้าโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของโครงการ ART จากต่างประเทศประกอบการพิจารณาด้วย โดยจะต้องเป็นอัตราที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชน ทั้งนี้ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนพิจารณาลดต้นทุนและระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยให้พิจารณานำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีต้นทุนต่ำมาปรับใช้ เพื่อให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ต่ำ.- สำนักข่าวไทย