กรุงเทพฯ 17 มี.ค.-ปตท.สผ.ตั้งเป้าเข้มปี 73 เพิ่มกำไรธุรกิจใหม่ร้อยละ20 รับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก มั่นใจโครงการ Gas to Power ในเมียนมา เดินหน้าได้ พร้อมตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ25
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ อีวี และ พลังงานทดแทน รวมทั้งนโยบายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการแปลงการใช้เชื้อเพลิงของโลก ซึ่ง ทาง ปตท.สผ. ได้เตรียมพร้อมรับมือ ตั้งเป้าหมาย ในปี 2573 ปรับลดต้นทุนต่อหน่วยผลิตจะลดลงจาก 30 ดอลลาร์หสรัฐ/บาร์เรลเหลือ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ เช่น แก๊สทูเพาเวอร์ในเมียนมา โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ และโดรน ให้มีสัดส่วนร้อยละ 20ของกำไร พร้อมตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ25 ดำเนินการลงทุนทั้งรูปแบบการนำคาร์บอนไปเก็บในแหล่งผลิตในแหล่งของบงกชอ่าวไทยและในมาเลเซีย
สำหรับ ธุรกิจใหม่ขณะนี้มี 2 กลุ่มงาน ได้แก่ 1 ธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ที่จัดตั้งบริษัทมาได้ประมาณ 2 ปี เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาเป็นส่วนสนับสนุนให้ขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น ขณะนี้ มีพนักงาน 100 คนแล้วจากเดิมมี 20 คน
เออาร์วี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ซ่อมท่อใต้ทะเล การร่วมทุนกับบริษัท เมอร์เมด ซับซี เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (MSST) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลในเชิงพาณิชย์ การพัฒนานวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมตรวจสอบเสาไฟฟ้า เสาเทเลคอม รวมถึงการจับมือกับบริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด (ไทย เอไอ) บริษัทในเครือของ ไทยคม พัฒนาโดรนเพื่อใช้ในงานเกษตรกรรม พัฒนาแพลตฟอร์มบริการครบวงจร เข้ามาช่วยทำการเกษตรในรูปแบบของสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง อีกทั้งจะรุกเข้าสู่สาธารณะสุข เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง เออาร์วี จะเป็ธุรกิจใหม่ที่เติบโตได้อีกไกล
2. โครงการ Gas to Power ในเมียนมา ตั้งเป้า โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) ทั้งจากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม3 มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี การก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทาง370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง มีระยะเวลาสัญญา 20 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ 5 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ซึ่ง จะร่วมมือกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.และขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนในเมียนมาเพิ่มเติม ซึ่งตามแผนจะสามารถเจรจาค่าไฟพร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ได้ในช่วงต้นปี65
“ยอมรับว่า การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) โครงการ Gas to Power อาจล่าช้าไปจากแผนเล็กน้อย จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา แต่เชื่อมั่นว่าโครงการยังเดินหน้าได้ เพราะโครงการนี้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมียนมาที่ให้มีไฟฟ้าใช้ ”นายพงศธร กล่าว
สำหรับแผนการลงทุนในปี2564 ปตท.สผ. ยังดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ “Execute & Expand” สร้างความมั่นคงในระยะยาว ตั้งงบลงทุนที่ 4,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าปริมาณการขายทั้งปี อยู่ที่ 398,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ทั้งนี้ บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตและปริมาณสำรองปิโตรเลียม จากการขุดเจาะสำรวจและพัฒนาโครงการหลักที่มีอยู่ในมือ และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งความสำคัญบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารแหล่งก๊าซในประเทศ คือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะเอราวัณจะสิ้นสุดสัมปทานเดิมในเดือนเม.ย.2565 และให้ความสำคัญกับการลงทุนขุดเจาะสำรวจฯเพิ่ม 11 หลุมในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการในมาเลเซีย 6 แปลง โครงการเม็กซิโก 3 แปลง โครงการในโอมาน 1 แปลง และโครงการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) 1 แปลง
ส่วนการเพิ่มโอากาสการลงทุนในแหล่งใหม่ๆ ทาง บริษัทได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นร้อยละ 20 ในแปลง Oman Block 61 ที่ประเทศโอมาน ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสต่อรองขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโอมาน แอลเอ็นจี (Oman LNG หรือ OLNG) ที่ปัจจุบัน บริษัทถืออยู่ประมาณร้อยละ 2 โดยคาดหวังจะได้สัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 5-10 ในอนาคต โดยแหล่งนี้และการลงทุนในแหล่งเอราวัณ และบงกช หลังหมดอายุสัมปทาน ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ. ลดต้นทุนต่อหน่วยลงเหลือ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ภายใต้สัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance วงเงิน 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะนี้ได้เงินกู้ก้อนแรกแล้ว เพื่อนำมารองรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของโครงการฯได้ ก่อนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567-สำนักข่าวไทย