สภาพัฒน์ 15 ก.พ.- สภาพัฒน์เผยตัวเลขจีดีพีปี 2563 จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบร้อยละ 6.1 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่ปี 2564 ขยายตัวได้เล็กน้อย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 4.2 ตัวเลขติดลบชะลอตัวจากติดลบร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 และเมื่อรวมทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบร้อยละ 6.1 โดยจีดีพีที่ติดลบดังกล่าว ถือว่ามากที่สุดในรอบ 22 ปี หรือนับจากวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยมาจากปัจจัยการระบาดของโคโรนาไวรัสล้วนๆ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยปี 2564 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0-2.0 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.3 ของจีดีพี การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 การลงทุนโดยรวมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ดีขึ้นจากที่ลดลง ร้อยละ 6.6 ในปี 2563
ส่วนปัจจัยทางการเมืองจะส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 เลขาสภาพัฒน์ กล่าวว่า เป็นปัจจัยที่ต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ ต้องช่วยกันทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากที่สุด
ทั้งนี้ การบริหารภาคเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ การขับเคลื่อนการส่งออก การส่งเสริมภาคการลงทุนของเอกชน มาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและการดูแลรายได้ภาคเกษตร และติดตามเตรียมรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก. – สำนักข่าวไทย