กรุงเทพ26 ม.ค. – ราคา LNG ตลาดโลกพุ่ง – ผลกระทบ ปตท. โควิด-19 ระลอกใหม่ ปตท.จับตา ทบทวนแผนนำเข้าและส่งออก ย้ำราคาก๊าซ ปตท. Pool Gas ยังต่ำกระทบค่าไฟฟ้าน้อย
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้ติดตามแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พบว่า ราคาตลาดจร (Spot) ล่าสุด ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 25 – 26 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากที่สัปดาห์ก่อนทำนิวไฮสูงสุดถึง 32ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากสภาพอากาศในแถบเอเชียเหนือที่มีอุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งเป็นประเทศหลักในการนำเข้า LNG มีความต้องการใช้ก๊าซฯสูงขึ้น
โดยในส่วนของประเทศไทย ใช้แอลเอ็นจีนำเข้าราวร้อยละ10 – 20 ของการเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ ปตท.มีสัญญาแอลเอ็นจีระยะยาว 5.2 ล้านตัน/ปี ราคาเฉลี่ยเพียง 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และภาพรวมปัจจุบัน ราคาก๊าซฯตลาดรวม (Pool Gas) ที่คำนวณจากราคาอ่าวไทย(ราคาอ้างอิงน้ำมันเตาย้อนหลัง6-12เดือน)/เมียนมาร์และแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว อยู่ที่ประมาณ 6.5-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ราคาที่ ปตท.จำหน่ายไม่กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้ามากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับราคา Spot LNG
ทั้งนี้จากการประมาณการของปตท.และภาครัฐ พบว่า ในปี 2564 เบื้องต้น ยังมีช่องว่างสำหรับรองรับการนำเข้า Spot LNG ประมาณ 5 แสนตัน หรือ 8 -10 ลำเรือ แต่หากราคาตลาดจรสูงแล้วกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่าไม่ควรนำเข้าเพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า ทาง ปตท.ก็พร้อมบริหารจัดการเรียกก๊าซธรรมชาติส่วนเกินสัญญาในไทยขึ้นมาทดแทนได้ชั่วคราว
“ปตท. อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบโควิดระลอกใหม่ว่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศอย่างไร จากเดิมคาดการณ์ว่า การใช้ก๊าซฯในปี 64 จะโต 3-4% จากปี 63 ที่ความต้องการใช้ก๊าซ อยู่ที่ประมาณ 4,600-4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงประมาณ 8% จากปี 62 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ก๊าซฯที่ลดลงในภาคไฟฟ้า จากผลกระทบโควิด-19 “นายวุฒิกรกล่าว
สำหรับราคาแอลเอ็นจีตลาดโลก ปกติแล้วเมื่อเข้าหน้าร้อน ช่วง มี.ค.-พ.ค. เป็นต้นไป ราคา Spot LNG ก็จะถูกลง แต่จะถูกลงเมื่อปี63 ที่บางช่วงราคาต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบีทียู คงยาก แต่หากราคายังแพง ปตท.ก็จะไม่นำเข้าแน่นอน
ส่วนแผนการผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายศูนย์กลางซื้อขายLNGในภูมิภาค หรือ LNG HUB คาดว่า จะสามารถดำเนินการส่งออก LNG เชิงพาณิชย์ ได้ในช่วงปี 2564-2565 ขยับออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศคู่ค้าชะลอลง
ส่วนความคืบหน้าแผนการศึกษาของ ปตท.กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC เพื่อร่วมเป็นชิปเปอร์นำเข้าแอลเอ็นจี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ GPSC ในธุรกิจไฟฟ้าเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่น ขณะนี้กำลังหารือว่าควรเป็นรูปแบบใดและคงต้องมาทบทวนแนวทางกันอีกครั้ง ว่ามีปริมาณนำเข้า LNG ที่น่าสนใจ และคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงราคา Spot LNG ตลาดโลก จะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร . – สำนักข่าวไทย