กรุงเทพฯ22 ม.ค.- ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจงกระบวนการเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์ Free Float ยังไม่แล้วเสร็จ ขอให้รอข้อมูลอย่างเป็นทางการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET ) ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ ตลท.มีแนวคิดในการปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคำนวณดัชนี เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนสภาพการณ์ตลาดได้ดีมากขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกับสากล ด้วยแนวทางการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) นั้น ในการดำเนินการนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการศึกษารายละเอียดของแนวทางการดำเนินงาน ผลกระทบ และกระบวนการเปลี่ยนผ่าน (transition) จากนั้นจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ลงทุน บริษัทจดทะเบียน และสถาบันตัวกลาง เพื่อนำมาปรับปรุงข้อเสนอก่อนที่จะดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ลงทุนติดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ “จะเกิดอะไรขึ้นหากปรับเกณฑ์ Free Float” ระบุว่า ตลท. เตรียมปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับ Free Float และการคำนวณดัชนี เพื่อแก้ปัญหาการเก็งกำไรผิดปกติต่อหุ้นสภาพคล่องต่ำ อาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปสู่น้ำหนัก (Weight) ของหุ้นแต่ละตัวในดัชนี ทั้งการเพิ่มและลดน้ำหนัก ในเชิงกลยุทธ์ เป็นโอกาสของการเก็งกำไรเพื่อรับ Flow จาก Passive Fund ที่จำเป็นต้องปรับน้ำหนักตาม หากมีการปรับเกณฑ์จริง คาดหุ้นหลักที่ได้รับการเพิ่มน้ำหนัก เช่น BBL, SCB, SCC, KBANK, BDMS, INTUCH เป็นต้น ในทางกลับกัน หุ้นที่มีความเสี่ยงอาจถูกลดน้ำหนัก น่าจะเคลื่อนไหว Underperform ดัชนีตลาดในช่วงนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามต่อเนื่องว่า เกณฑ์ที่ ตลท. นำมาใช้จริงจะมีเงื่อนไขอย่างไรและจะเกิดขึ้นเมื่อใด
แนวทางการแก้ปัญหาการเก็งกำไรผิดปกติต่อหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายต่ำ ด้วยการนำ Free Float มาร่วมคำนวณมูลค่าตลาด (Market Cap.) ของหุ้นแต่ละหลักทรัพย์ เรียกว่า วิธี Free Float Adjusted Market Cap. เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนสภาวะตลาดได้ตรงกับความเป็นจริงของราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยภาพรวม เนื่องจากก่อนหน้านี้ หุ้นบางหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำ แต่ราคาเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี SET INDEX
บล.หยวนต้า ประเมินว่า หากมีการนำเกณฑ์ใหม่มาใช้ ความผันผวน (Volatility) ของ SET INDEX มีแนวโน้มลดลง และมีโอกาสน้อยลงที่หุ้นสภาพคล่องต่ำแต่ราคาขึ้นลงรุนแรง จะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อดัชนีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของหุ้นรายตัวในดัชนี ทำให้กองทุนที่ลงทุนตามดัชนีหรือ Passive Fund มีความจำเป็นต้องปรับน้ำหนักตามเพื่อลด Tracking Error เมื่อเทียบกับดัชนีอ้างอิง ดังนั้น อาจเป็นจังหวะให้นักลงทุนได้เข้ามาเก็งกำไรก่อนการปรับน้ำหนักของกองทุน เน้นหุ้นที่ได้รับการปรับเพิ่มน้ำหนักมากเป็นหลัก จากการรวบรวมข้อมูลของเรา พบว่า กองทุน Passive Fund มีมูลค่า NAV รวมกันราว 5 หมื่นล้านบาท และกองทุนที่ใช้ดัชนี SET50 เป็น Benchmark มีมูลค่ารวมกันราว 9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินทุนเป็นหลัก ไม่ได้กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนแต่อย่างใด /สำนักข่าวไทย