กรุงเทพฯ 20 ม.ค.- โออาร์ แจงไอพีโอ เตรียมพร้อมขยายงาน ใน 5 ปี วางแผน 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการร่วมทุนในธุรกิจใหม่ ๆ และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รับธุรกิจในอนาคต เช่น อีวี และ ไลฟ์ไสตล์ ส่วนกรณี “ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11)” พันธมิตรแสนดีศึกษาร่วมงานหลังสัญญาธุรกิจจะหมดใน 2 ปีข้างหน้า
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ช่วงราคาเสนอขาย 16– 18 บาทต่อหุ้น สำหรับผู้จองซื้อรายย่อยสามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงไทย ที่สำนักงานใหญ่และทุกสาขาทั่วประเทศและผ่านช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 24 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจัดสรรแบบวิธี Small Lot First เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการกระจายหุ้นอย่างทั่วถึง
“OR เชื่อมั่นว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่ OR พร้อมเดินหน้าสู่การเติบโตครั้งใหม่ ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากจุดแข็ง รากฐานทางธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตอันแข็งแกร่งของ OR เพื่อก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกอย่างแท้จริง กับแนวคิดธุรกิจ Retailing Beyond Fuel พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมเป็นเจ้าของและต่อยอดสู่การเติบโตที่ไกลกว่าเดิม ขณะที่นโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ”นางสาวจิราพร กล่าว
สำหรับผู้ถือหุ้น ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น สามารถจองซื้อได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 25-28 มกราคม 2564 คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ OR ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดย เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 22.5% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัทฯ ภายหลังที่มีการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ (ในกรณีที่มีการเสนอขายหุ้นทั้งจำนวน โดยไม่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. ทั้งนี้ ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 2,610 ล้านหุ้น หากมีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายดังกล่าว บริษัทฯ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้แก่ผู้ลงทุนจำนวนไม่เกิน 390 ล้านหุ้น อีกทั้งการจัดสรรหุ้นของ OR ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยในครั้งนี้จะไม่มีการจัดสรรหุ้นผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นางสาวจิราพร กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ OR มั่นใจการเติบโตของบริษัทฯ โดย ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในส่วนที่ไม่รวมผลกระทบการสตอกน้ำมันเติบโตกว่า 25% ต่อปี นอกจากนี้เชื่อมั่นว่าแผนลงทุนที่วางไว้ในช่วง 5 ปี(ปี 2564-2568) เงินลงทุน 7.46 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการขยาย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจน้ำมัน สัดส่วน 34.6% ,ธุรกิจนอนออยล์ สัดส่วน 28.6% ,ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และอื่นๆอีก 15% จะยังทำให้ OR เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังคงยึดธุรกิจเดิมและการขยายธุรกิจใหม่
ปัจจุบัน OR มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 38.9% และธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น 1,968 แห่ง และ 329 แห่งในต่างประเทศ ,ร้านคาเฟ่ อเมซอน 3,168 ร้าน และ 272 ร้านในต่างประเทศ ,ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto จำนวน 56 แห่ง และ 4 แห่งในต่างประเทศ ,ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven ในสถานีบริการ และแบรนด์ Jiffy จำนวนรวมกัน 1,960 ร้าน และ 86 ร้านในต่างประเทศ
นางสาวจิราพร ยังกล่าวด้วยว่า สัญญาการให้สิทธิร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ของบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT station ใกล้จะหมดสัญญาในอีกกว่า 2 ปีข้างหน้า ขณะนี้โออาร์อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการต่อสัญญาระหว่างกัน เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีต่อกัน โดยร้าน 7-11 ก็มีรายได้สูงขึ้น ขณะที่สถานีบริการน้ำมันของโออาร์ก็มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน OR กล่าวว่า บริษัทฯ ได้วาง 6 กลยุทธ์ ในอนาคต ประกอบด้วย 1.รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย 2.มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร 3.ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก 4.เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) 5.ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี และ 6.มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล
“ในส่วนของเงินลงทุน 5 ปีข้างหน้าในธุรกิจอื่นๆ 15 % หรือราว 1.12 หมื่นล้านบาท เตรียมพร้อมสำหรับการร่วมทุนทั้งธุรกิจใหม่ การทำเอ็มแอนด์เอ การขยายงานรองรับธุรกิจในอนาคตทั้ง MOBILITY ,life Style เช่น ธุรกิจอีวี ขณะนี้เรามี 25 สถานีชาร์จ และศึกษารองรับเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยพร้อมลงทุนทั้งระบบ”นางสาวราชสุดา กล่าว . -สำนักข่าวไทย