กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย เร่งเสนอคณะกรรมการนมโรงเรียนพิจารณากำหนดแนวทางการจัดส่งนมโรงเรียน ภาคการศึกษาที่ 2/2563 เหตุการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้หลายพื้นที่ส่งนมโรงเรียนไม่ได้ ผู้ประกอบการปฏิเสธรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร เพราะมีผลิตภัณฑ์นมใกล้หมออายุค้างสตอกเป็นจำนวนมาก ส่วนเงินเยียวยาผู้เลี้ยงโคนมจากโควิด-19 ระลอกแรก อาจเข้าสู่การพิจารณาของครม. พรุ่งนี้ กรณีปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้เสนอโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปยังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคาดว่า อาจนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. พรุ่งนี้ (12 มกราคม) โดยเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอกแรก
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์จัดการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อหาแนวทางการจัดส่งนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ลงวันที่ 2 มกราคม 2564 ทำให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดต้องปิดการเรียนการสอน จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ไม่สามารถจัดส่งนมโรงเรียนที่ได้ผลิตไว้แล้วได้ ส่งผลให้มีปริมาณผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนค้างสต็อกและใกล้หมดอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีเกษตรกรแจ้งความเดือดร้อนว่า ผู้ประกอบการไม่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ดังนั้นจึงเสนอแนวทางการจัดส่งนมโรงเรียนใหม่ให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนพิจารณาเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การจัดส่งนมโรงเรียนทำได้ทั่วถึง เด็กนักเรียนทุกคนได้ดื่มนมโรงเรียนและเกษตรกรจำหน่ายน้ำนมดิบได้
ก่อนหน้านี้ มีการนำเสนอข่าวว่า ประกาศกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ทำให้โรงเรียนในพื้นที่ควบคุม 28 จังหวัด ปิดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมไม่สามารถส่งนมโรงเรียนได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่มีที่จำหน่ายน้ำนมดิบ จำเป็นจะต้องเทน้ำนมดิบทิ้ง ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยทำหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นการเร่งด่วน เพื่อขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือหน่วยงานจัดซื้อ ดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที แทนผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรส์ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ ดื่มนมอย่างต่อเนื่อง และขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที แทนผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรส์ให้อปท. /หน่วยงานจัดซื้อ หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) นอกจากนี้ขอให้มีมาตรการฃเร่งด่วนเพื่อระบายผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที คงเหลือจากผลกระทบจากโควิด-19 (รอบแรก) ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที เอาไว้ทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมมีสต็อกคงเหลือจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรับน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ . – สำนักข่าวไทย