นนทบุรี 4 ธ.ค. – พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ พ.ย.ติดลบน้อยลงต่อเนื่อง เหตุกลุ่มอาหารสดสูง ระมัดระวังใช้จ่ายช่วงโควิด มั่นใจทั้งปีตามคาดการณ์ ปีหน้าเงินเฟ้อบวกร้อยละ 1.2-1.7
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 0.41 ติดลบน้อยลงเป็นเดือนที่ 2 ดีขึ้นจากเดือนก่อนเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารสด ความต้องการสูง รวมถึงราคาสุกรความต้องการบริโภคในตลาดต่างประเทศยังต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคากลุ่มพลังงานทรงตัวไม่ได้ปรับขึ้นหรือลงมาก ส่วนสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ แต่สินค้าโดยรวมไม่ได้มีการปรับขึ้นไปมากมีเพียงผักสดขึ้นเล็กน้อยตามฤดูกาล ถือว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่อง แต่น้อยลงเป็นเดือนที่ 2 มีปัจจัยมาจากปัญหาความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 แต่ขณะนี้ความกังวลดังกล่าวน้อยลง แม้ว่าจะตรวจพบการระบาดภายในประเทศ แต่ไม่ได้สร้างความกังวลมากนัก จึงส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มปรับดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่เริ่มมีความต้องการสูงขึ้น แต่ยังไม่เพิ่มมาก เนื่องจากการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างยังรอดูภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้การก่อสร้างจึงไม่ขยายตัวเต็มที่ ประกอบกับแนวทางกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง และชิบช้อปใช้ส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลับมาคึกคักเพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อทั่วไป 11 เดือน 2563 (ม.ค.- พ.ย.) ลดลงร้อยละ 0.90 เท่านั้น
ทั้งนี้ สนค.มองว่าจากปัจจัยลบด้านโควิดที่ยังเป็นตัวฉุดความกังวลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่บ้าง คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยแต่ละเดือนยังคงติดลบแต่จะไม่มาก โดยจะมาจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาทั้งการให้เงินสู่ประชาชนบางกลุ่มจะทำให้กระตุ้นภาคเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยในด้านต่างๆอีกด้วย จึงคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 1.5-0.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งมีปัจจัย คือ จีดีพีของประเทศติดลบร้อยละ 7.6-8.6 อัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม สนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2564 จะเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-1.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งมีปัจจัยจีดีพีของประเทศบวกร้อยละ 3.5-4.5 อัตราแลกเปลี่ยน 30.0-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าหลายฝ่ายทั่วโลกกำลังรอข่าวดีวัคซีนที่จะใช้ป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดโควิดได้ในปีหน้า จึงเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีขึ้นได้.-สำนักข่าวไทย