กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 3/63 ติดลบน้อยลง อยู่ที่ -6.4% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้หลังคลายล็อกดาวน์ และมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ พร้อมปรับประมาณการทั้งปีติดลบน้อยลงเหลือ -6% และกลับมาเป็นบวก 3.5 – 4.5% ในปี 64
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 ติดลบ 6.4% เป็นการติดลบน้อยลงจากไตรมาส 2/2563 ที่ติดลบ 12.1% ทำให้ช่วง 9 เดือน เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.7% ปัจจัยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 3 เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้กิจกรรมกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3 ฟื้นตัวขึ้นหลังจากติดลบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 2/2563
ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดีขึ้น เป็นติดลบ 6% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วงเดือนสิงหาคมว่าจะติดลบ 7.5% และเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2564 ที่ 3.5-4.5% จากปัจจัยการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ การเปิดสเปเซียลทัวร์ริสวีซ่า และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ขณะที่การเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 70% ของเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง สศช.ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพื่อหามาตรการรองรับ, สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ ,การระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในต่างประเทศที่ส่งผลให้มีการปิดเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย รวมทั้งความเสี่ยงในเรื่องประสิทธิภาพและการขนส่งวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนใช้ทั่วโลกในช่วงไตรมาส 3/2564
ขณะที่ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2563 พบว่ามีผู้ว่างงาน 740,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90% ใกล้เคียงกับ 1.95% จากไตรมาส 2 โดยพบว่าแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น ขณะที่แรงงานในระบบมีการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 488,000 คน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตันภาคบังคับที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.5%
ส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/63 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/63 โดยมีสาเหตุจากการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางการเงินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด .-สำนักข่าวไทย