กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – ACE ร่วมลด PM 2.5 ขานรับนโยบายภาครัฐ ชูแนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” เปิดรับซื้อวัสดุทางการเกษตรกว่า 50 ชนิด รวมกว่า 1.7 ล้านตัน วางแผนทั้งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า4เท่าตัวหรือมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 67
นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเร่งด่วน
ACE ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และทำต่อเนื่องมาหลายปีบนหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล โดยดำเนินการภายใต้แนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” เปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรที่หลากหลายกว่า 50 ชนิด อาทิ ฟางข้าว แกลบ ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ รวม 12 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดย
ในปี 2563 และ 2564 ตั้งเป้าหมายรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตัน โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมักเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 บริษัทฯ จะรับซื้อในปริมาณมากขึ้น 40-50% ของปริมาณรับซื้อปกติ แม้จะเกินปริมาณการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในเดือนนั้นก็ตาม แต่มีวัตถุประสงค์จะดำเนินการ เพื่อลดฝุ่นละออง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีสามารถช่วยลดได้มากกว่า 434 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทั้งนี้ตลอด 9 ปีตั้งแต่ปี 2555 การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของ ACE ได้รับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรในปริมาณรวมแล้วมากกว่า 5 ล้านตัน มีส่วนช่วยลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งเทียบเท่าปริมาณ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาฟางข้าว ตอซังข้าวในนาข้าวเนื้อที่รวมกว่า 10.8 ล้านไร่/ปี
ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ทดแทนการเผาได้ปีละมากกว่า 1,200 ล้านบาท ช่วยให้สร้างมูลค่าเพิ่มกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน มากกว่า 5,000 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัมมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ แล้ว 18 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 239.91 เมกะวัตต์ จากในแผน 36 โครงการ ทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 . – สำนักข่าวไทย