กทม. 8 พ.ย.-ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศแนวปฏิบัติสำคัญเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สาคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ
- การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชาระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
- การกําหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ดังนั้น การปรับ 2 เกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง
- การกําหนดลําดับการตัดชําระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชําระนานที่สุดเป็นลําดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชาระหนี้จริง มาคำนวณ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ โดยนับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตาม ประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะใน ปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า “เกณฑ์การคิดคำนวณการผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เฉพาะในส่วนของจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ไม่ใช่เงินคงค้างทั้งหมด หรือเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดให้บวกได้ไม่เกิน 3% ของอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรือเรื่องที่กำหนดให้เมื่อลูกหนี้นำเงินไปชำระแล้วให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปตัดในส่วนของค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก ทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ของประเทศไทย โดยจะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระ ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวมของไทยอีกด้วย”.-สำนักข่าวไทย