นนทบุรี 4 พ.ย. – พาณิชย์จัดงานฟู้ดทรัค มาร์ทเริ่มแล้ พร้อมดึงผู้ประกอบการ‘ฟู้ดทรัคและสถาบันการเงินเข้าร่วมงานคึกคัก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน มหกรรมงานแสดงร้านอาหารเคลื่อนที่ ‘ฟู้ดทรัค มาร์ท’ (Food Truck Mart ) บริเวณลานตลาดนัด กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี ว่า “การจัดงาน ‘ฟู้ดทรัค มาร์ท’ ครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจจริงของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ต้องการแสดงพลังของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค ให้ผู้ที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจ ได้เห็นถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจที่ครบวงจร การตกแต่งร้านค้าที่มีความสวยงามน่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และโอกาสความสำเร็จของธุรกิจที่สามารถสานต่อเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง เนื่องจากฟู้ดทรัคเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน และเข้ากระแส New Normal เป็นอย่างดี ด้วยตัวเลขผู้ประกอบการที่มีกว่า 2,500 ราย และมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,600 ล้านบาทต่อปี ทำให้ฟู้ดทรัคเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ชัดเจนและโดดเด่น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจฟู้ดทรัคมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 22 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา การลงมาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจประเภทอาหาร/เครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศในรูปแบบฟู้ดทรัค รวมถึง การจัดแคมเปญพิเศษของค่ายรถในประเทศ 2 -3 แบรนด์ในการปรับเปลี่ยนรถกระบะ/รถบรรทุกเป็นรถเชิงพาณิชย์ (ฟู้ดทรัค) ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ธุรกิจฟู้ดทรัคเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากขึ้น”
ทั้งนี้ การเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัค จำเป็นต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานในการประกอบธุรกิจและมองเห็นลู่ทางของการเติบโต กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจฟู้ดทรัค หัวข้อ ‘เริ่มธุรกิจฟู้ดทรัคอย่างไร…ให้สำเร็จ’ โดย อาจารย์ญาณเดช ศิรินุกูลชร ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาการวางแผนยุทธศาสตร์องค์กร/เครือข่าย/ธุรกิจฟู้ดทรัค ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 100 ราย ขณะเดียวกัน สถาบันการเงิน 6 แห่ง ประกอบด้วย ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.ทิสโก้ ธ.อิสลาม ธ.ออมสิน และ เอสเอ็มอีดีแบงก์ เข้าร่วมให้คำปรึกษาด้านการประกอบธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ การขอสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ รวมถึง การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี คงที่ 2 ปี ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงและใส่ใจเป็นพิเศษก่อนเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัค คือ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการประกอบธุรกิจฟู้ดทรัค เช่น * ทำเลที่ตั้ง..ใช่ว่าจะจอดขายได้ทุกสถานที่ * สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าขายหรือการตั้งโต๊ะรับประทานอาหาร * คู่แข่งที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากฟู้ดทรัคเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม จึงมีนักลงทุนเข้ามาในตลาดฟู้ดทรัคมากขึ้น การแข่งขันจึงสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน รวมทั้ง คู่แข่งที่เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ตามทำเลต่างๆ * ขาดการเตรียมความพร้อมและการศึกษาถึงรูปแบบธุรกิจที่ดี..ก่อนเข้าสู่ตลาดฟู้ดทรัค อาจส่งผลต่อการเลิกประกอบธุรกิจที่รวดเร็ว และไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่ได้ลงทุนไป ฯลฯ”
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดทรัคที่ประสบความสำเร็จและต้องการขยาย/พัฒนาธุรกิจจึงต้องการโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน… กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่กำกับดูแลกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จึงได้ผลักดันให้ ‘ธุรกิจฟู้ดทรัค’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการ โดยได้ร่วมหารือกับสถาบันการเงินในการรับ ‘ธุรกิจฟู้ดทรัค’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี) เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เบื้องต้น สถาบันการเงินรายย่อย ได้มีการรับกิจการเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว ส่วนสถาบันการเงินรายใหญ่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อรับกิจการเป็นหลักประกันทางธุรกิจต่อไป ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2563) มีผู้นำกิจการมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 6,364 กิจการ มูลค่ารวมกว่า 737 ล้านบาท”
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้ที่กำลังหาโอกาสทางอาชีพหรือธุรกิจและผู้สนใจ เข้าร่วมงาน ‘ฟู้ดทรัค มาร์ท’ ระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน 2563 ณ ลานตลาดนัด กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี ท่านจะได้พบกับผู้ประกอบการฟู้ดทรัคประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวนกว่า 20 ราย และหากสนใจประกอบธุรกิจ/ต้องการเงินลงทุนสามารถขอคำปรึกษากับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงานฯ ได้ และปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2563) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ประมาณ 2,500 ราย แบ่งเป็น ภาคกลาง ร้อยละ 60 ภาคเหนือ ร้อยละ 14 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 9 ภาคตะวันออก ร้อยละ 6 ภาคใต้ ร้อยละ 6 และภาคตะวันตก ร้อยละ 5 สัดส่วนการจำหน่าย แบ่งเป็น ประเภทอาหารอินเตอร์ ร้อยละ 27 เครื่องดื่ม ร้อยละ 26 อาหารไทย ร้อยละ 22 อาหารว่าง-หวาน ร้อยละ 15 และ อาหารว่าง-คาว ร้อยละ 10
โดยเงินลงทุน (รถใหม่) เริ่มต้นประมาณ 5 แสน – 1 ล้านบาท รายได้เฉลี่ยต่อคันต่อปีประมาณ 1,056,000 บาท (4,000 บาท / 22 วัน / 12 เดือน) อัตราการเติบโตของธุรกิจเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี . – สำนักข่าวไทย