กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – กบน.ประชุมปลายเดือน ต.ค. ติดตามกล้าเคาะขยับราคาน้ำมันตามกรอบกฏหมายกองทุนน้ำมันหรือไม่ ทั้งลดอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพื่อใช้ในช่วงวิกฤติ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 มีมติเห็นชอบแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563 – 2567 แล้วนั้น ทาง สกนช.จะเดินหน้านำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.)ซึ่งมี รมว.พลังงานเป็นประธาน ในปลายเดือนต.ค.นี้ พิจารณาแนวทางดูแลเสถียรภาพเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการปฏิบัติตามกรอบกฏหมายที่ไม่ให้ใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายใน 3 ปี หลังกฏหมายมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 24 ก.ย. 2562 แต่ก็สามารถต่ออายุการดูแลได้ 2ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวม 7 ปี แต่ก็ขึ้นกับ กบน.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
เบื้องต้นทาง สกนช. จะเสนอให้เก็บเข้าเงินกองทุนน้ำมันในน้ำมันทุกประเภทปรับขึ้นสัดส่วนร้อยละ50 ตั้งแต่ 24 ก.ย. 2564 และยกเลิกชดเชย หรือ ชดเชยเป็น 0 ตั้งแต่ 24 ก.ย.2565 เป็นต้นไปและ จากที่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันต่ำยาวนานก็จะเสนอให้ กบน.จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วงที่ราคาต่ำ เพื่อสะสมเงินให้กองทุนน้ำมันฯ ให้มีสภาพคล่องสูงขึ้น เพื้อนำไปใช้ในยามเกิดวิกฤตการณ์ในอนาคต
” ขณะนี้ราคาขายปลีกอยู่ในระดับต่ำมาก ดีเซล(บี10) อยู่ที่ประมาณ 18.89 บาทต่อลิตร จากอดีตเคยกำหนดตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ดังนั้น จะดูแลราคาดีเซล ไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร จะดีกว่าไหม รวมถึงเชื้อเพลิงอื่นๆอุดหนุนน้อยลง เพื่อให้กองทุนฯมีเงินเพิ่มขึ้นไว้ดูแลราคาในอนาคต หริอเกิดเหตุต่อเถียรภาพแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กบน.”นายวิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันมีเงินสะสมได้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และในยามเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 25 ต.ค.63 มีฐานะสุทธิ 30,285ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 38,260 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 7,981ล้านบาท
โดยเงินกองทุนฯที่ใช้จ่ายส่วยใหญ่เกิดจากการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม และการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ปัจจุบัน กองทุนฯอุดหนุดดีเซล(บี10) 2.50 บาท/ลิตร บี 20 อุดหนุน 4.16 บาท/ลิตร อุดหนุน อี 20 อัตรา 2.28 บาท/ลิตร อี 85 อุดหนุน 7.13 บาท/ลิตร
“หากไม่อุดหนุน ราคาน้ำมันชีวภาพ ก็จะขึ้นไปสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดย สกนช.ประเมินว่า พืชพลังงานจะแข่งขันกับน้ำมันดิบได้ก็ต่อเมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 70 – 75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลแต่ขณะนี้อยู่ที่ราว 40-45 ดอลลาร์ /บาร์เรล รถไฟฟ้าอีวีก็เป็นทิศทางมาแรง โควิด-19 ก็ระบาด ดังนั้นราคาน้ำมันดิบจะขึ้นสูงมากก็ยาก”นายวิศักดิ์กล่าว . – สำนักข่าวไทย