เมืองทองธานี 22 ต.ค. – ผู้ว่าธปท.คาดแนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังพุ่ง แตะระดับ 83.3% ของจีดีพี จากสถานการณ์โควิด-19 ทำรายได้ครัวเรือนลด และอาจเตรียมออกมาตรการทางการเงินเพิ่มหากจำเป็น
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานมหกรรมทางการเงิน ครั้งที่ 20 ว่า ปัจจุบัน พบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มการเป็นของคนไทยนั้น เป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป จากไตรมาส 2/63 ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 13.58 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 ที่อยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 13.49 ล้านล้านบาท
“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สุขภาพทางการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการโดนลดชั่วโมงทำงาน และการถูกเลิกจ้าง ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/63 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมา ธปท. จึงร่วมกับสถาบันการเงิน ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งลูกหนี้บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง หรือ ถูกเลิกจ้าง จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
“หลังจากนี้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน จะไม่ใช่การปูพรมและช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับลูกหนี้ และไม่ได้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา เพราะการพักหนี้นั้นเป็นการพักเงินต้น แต่ในด้านอัตราดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะเน้นเป็นกลุ่มตามความจำเป็น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ผู้ว่าการธปท. คาดการณ์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 3/65 โดยธปท.อยู่ระหว่างเตรียมมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้จะต้องดูความเหมาะสม และความจำเป็น
“เรากำลังดูมาตรการเพิ่มเติม แต่จะต้องดูความเหมาะสม และความจำเป็น โดยมาตรการนั้นจะต้องมีความยืดหยุ่น ครบวงจร แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะออกมาในช่วงเวลาใด”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว .-สำนักข่าวไทย