กรุงเทพฯ 14 ต.ค. – ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทะลุ 160,000 คัน หลายหน่วยงานเร่งความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า ระบุกระแสนิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเร็วขึ้น แต่รัฐต้องส่งเสริมผ่านมาตรการภาษี
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานและสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) จัดพิธีมอบโล่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ารับการสนับสนุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าหรือ Charging Station รวม 68 หน่วยงาน จำนวนหัวจ่ายอัดประจุไฟฟ้ารวม 80 หัวจ่าย โดยมีนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นผู้มอบโล่ พร้อมจัดสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า
นายกฤษฎา กล่าวว่า จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมามีการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ BEV จำนวน 4,301 คัน และยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบ hybrid และแบบ plug in hybrid รวม 167,767 คัน และสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้ารวมกว่า 1,854 หัวจ่าย
ด้านจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ภาครัฐตั้งเป้าว่าปี 2579 ประเทศไทยจะมียานยนต์ไฟฟ้ามากถึง 1.2 ล้านคัน แต่เชื่อว่าสถานการณ์โดยรวมจะเกิดขึ้นเร็วกว่าเป้าหมายนี้ เพราะยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ครึ่งปีแรกสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาถึงกว่าเท่าตัว โดยปีที่ผ่านมายอดจดทะเบียน 1,572 คัน ขณะที่ครึ่งปี 2563 มียอดจดทะเบียนถึง 3,076 คัน
ทั้งนี้ จากยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ดีขึ้นมากและเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ หรือ XEV ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 น่าจะพิจารณาปรับเป้าหมายได้แล้ว แต่จะต้องมีแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มาตรการด้านภาษีทั้งภาษีสรรพสามิต นำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ ขณะที่สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและหลายหน่วยงานเดินหน้าเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอ พร้อมมาตรการส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นในต้นทุนการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้าที่ซื้อแล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า ซึ่งราคาที่เหมาะสมประมาณคันละ 1 ล้านบาทต้น ๆ โดยเริ่มจากการนำเข้าของค่ายรถยนต์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้สิทธินำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าภาษีร้อยละ 0 ในช่วง 3 ปีแรกก่อนการผลิตในประเทศไทย ส่วนยี่ห้อ MG ภาษีนำเข้าเป็น 0 อยู่แล้ว เพราะใช้สิทธิภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน
นายกฤษฎา กล่าวว่า เพื่อสร้างเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและร่วมมือกับ 11 หน่วยงานเพื่อร่วมพัฒนาโมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่าย โดยในอนาคตผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าได้ทุกเครือข่าย รวมถึงการมีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและ plug in hybrid หรือผู้ที่วางแผนอยากปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษ เกิดความมั่นใจในการเข้าถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าที่กระจายตัวอยู่ในที่สาธารณะได้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในแผนนโยบายที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและสนับสนุนต่อเนื่องตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2555-2579 ปัจจุบันเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะและแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ราคาค่าบริการการชาร์จไฟฟ้า การนำเอาไฟฟ้าส่วนเกินมาป้อนให้กับยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ สนพ.ยังได้ศึกษากรณีให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากแบตเตอรี่รถเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถสามารถเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศได้ในอนาคต ปัจจุบันเทคโนโลยีสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความก้าวหน้ามากขึ้นยกระดับไปสู่การเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถคำนวณได้ว่าควรใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาใด เพื่อให้ได้อัตราค่าชาร์จไม่แพงรวม ถึงแบตเตอรี่สามารถเป็นโรงไฟฟ้าเสมือนโดยให้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถปล่อยประจุไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ใช้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการนำมาศึกษารูปแบบและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศต่อไป
สำหรับ 11 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย