กทม. 12 ต.ค.-รมว.คมนาคม สั่งสำรวจจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศ เพื่อวางแผนติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน พร้อมยอมรับว่าถูกตัดงบประมาณทำที่กั้นรางรถไฟ ขณะที่มีการเปิดเผยจุดตัดทางรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก มีมากถึง 34 แห่งทั่วประเทศ
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถบัสที่จังหวัดฉะเชิงเทราว่า ได้สั่งให้สำรวจว่า มีจุดตัดทั่วประเทศจำนวนเท่าใดที่ยังไม่มีอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัย ขณะนี้กรมการขนส่งทางราง ได้ขออนุมัติงบประมาณจากกองทุนความปลอดภัยของกรมขนส่งฯ ในการศึกษาและดำเนินการติดตั้งให้ครบถ้วนทั่วประเทศ นอกจากนี้จะพิจารณาว่า จุดที่มีการขออนุญาตอย่างไม่ถูกต้องมีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องทำให้เป็นจุดตัดอยู่ ถ้าไม่จำเป็นต้องปิด หรือ ถ้าจำเป็นต้องทำให้ถูกต้อง พร้อมยอมรับว่า ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 64 มีการตัดงบในการทำที่กั้นทางรถไฟจริง
ส่วนความเคลื่อนไหวที่กระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงฯ ได้เรียกผู้บริหาร ทั้งกรมการขนส่งทางบก, การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมการขนส่งทางราง หารือปัญหาอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถบัส บริเวณจุดตัดใกล้สถานีคลองแขวงกลั่น
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดรถไฟกับถนนโดยเฉพาะจุดเกิดเหตุดังกล่าว ล่าสุดสั่งให้ รฟท. ประสานขอรับงบจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 4-5 ล้านเพื่อก่อสร้างเครื่องกั้นในจุดเกิดอุบัติเหตุนี้ รวมทั้งเร่งซ่อมระบบสัญญาณไฟเตือนรถ ส่วนการสำรวจจุดตัดรถไฟกับถนนทั่วประเทศพบว่าเบื้องต้นมี 621 แห่ง
ขณะที่้ข้อมูลจาก รฟท. และกรมการขนส่งทางราง รายงานข้อมูลจุดตัดรถไฟกับถนนที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน หรือ “Black Spot” ซึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างปี 2558-2562 จำนวน 34 จุด และเมื่อรวมกับจุดตัดที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวาจะมี 35 จุด ซึ่งการแก้ไขปัญหาจุดดังกล่าว กระทรวงฯ ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณจาก กปถ. เช่นกัน โดยจะใช้วงเงิน 29.5 ล้านบาท เพื่อศึกษาปัญหาทางกายภาพและแนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากทั้ง 35 แห่ง มี 9 แห่งเป็นจุดตัดที่มีเครื่องกั้นแล้วแต่ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้บางจุดมีเครื่องกั้นแต่หากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ระวังอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้อยู่ดี โดยแนวทางแก้ปัญหานั้นจะไปศึกษารายละเอียดว่าหากจุดตัดใดแม้จะมีเครื่องกั้นแต่ไม่ปลอดภัย จำเป็นต้องปิดทำรั้วกั้นก็ให้ดำเนินการ จุดตัดใดจำเป็นแก่ผู้ใช้ทางและต้องก่อสร้างสะพานข้าม ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการด่วน
รองปลัดกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าที่ผ่านมาในเรื่องของปัญหาจุดตัดรถไฟกับถนนได้มีการแก้ไขตั้งแต่ปี 2557 โดยจุดตัดที่อยู่ในเขตถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว ส่วนจุดตัดถนนกับรถไฟที่อยู่ในถนนของ อปท. แนวทางในอนาคตต้องให้ อปท. ทำเรื่องเสนอความต้องการทำเครื่องกั้น โดยขอข้อมูลทางวิชาการจาก รฟท. เพื่อเสนอผ่านจังหวัดฯ และขอจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย.-สำนักข่าวไทย