กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – กรมสรรพากรเปิดตัว e-Stamp Duty ทำธุรกรรม 5 ประเภท ไม่ต้องติดอากรแสตมป์แบบเดิม
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ผลักดันกระบวนการทำงาน โดยใช้ดิจิทัลมากขึ้น โดยเปิดกว้างการให้บริการผ่านระบบ Open API เพื่อให้เข้าถึงบริการที่รวดเร็วและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ระบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ อ.ส.9 หรือ e-Stamp Duty ถือเป็นระบบที่ช่วยให้การชำระอากรแสตมป์เป็นเรื่องง่าย ลดปัญหาความยุ่งยากในการเดินทางไปชำระอากรแสตมป์ และการคำนวณอากรแสตมป์ผิดพลาด เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่เสียอากรประสงค์จะนำตราสารที่สามารถชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถยื่นคำขอผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและชำระค่าอากร ก่อนกระทำตราสารหรือภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ และชำระเงินค่าอากรโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) โดยต้องเป็นตราสารที่จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ประกอบด้วยตราสาร 5 ลักษณะ ได้แก่ จ้างทำของ กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท และค้ำประกัน
สำหรับการยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ตาม “แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์” (อ.ส.9) โดยผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th > e – Filing > ระบบขอเสียอากรแสตมป์ เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นผ่านทาง Application Programming Interface (API) ของกรมสรรพากร ซึ่งระบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์จะเปิดให้บริการเฉพาะการขอเสียอากรฉบับปกติภายในกำหนดเวลา หากต้องการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารที่เกินกำหนดเวลาหรือยื่นแบบเพิ่มเติม ต้องยื่นด้วยแบบ อ.ส.4, อ.ส.4ข ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
“เมื่อผู้ยื่นขอเสียอากรด้วย e – Stamp Duty โอนเงินค่าอากรเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกรมสรรพากรแล้ว เมื่อกรมสรรพากรออกรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์พร้อมใบเสร็จรับเงินตามจำนวนเงินค่าอากร และเจ้าหน้าที่รับชำระเงินได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้เสียอากรแล้ว ถือว่าตราสารตามรายการข้อมูลในแบบขอเสียอากรแสตป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว” โฆษกกรมสรรพากร กล่าว.-สำนักข่าวไทย