กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – “ศักดิ์สยาม” สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด ช่วยขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง 2 แสนล้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งผลักดันโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสอดคล้องกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย คือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการคมนาคมเชื่อมโยง 2 ชายฝั่งทะเลของไทย โดยโครงการจะมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท และขณะนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบศึกษาให้แก่หน่วยงาน คือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวม 2 หน่วยงาน วงเงิน 158 ล้านบาท รวมทั้งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะให้รวมโครงการทุกระบบขนส่ง คือ ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ และระบบทางรถไฟ ให้เอกชนผู้สัมปทานโครงการ ดำเนินการเพียงรายเดียว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเชื่อมโยงระบบขนส่งต่าง ๆ
นายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า หัวใจคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ชายฝั่งทะเลของไทย โดยการพัฒนาท่าเรือแห่งใหม่ทั้งจังหวัดระนองและท่าเรือใหม่ในจังหวัดชุมพร หลังท่าเรือทั้ง 2 แห่ง จะสร้างระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟคู่ขนานเชื่อมโยง 2 ท่าเรือเข้าหากัน โดยทั้ง 2 ระบบขนส่งจะมีระยะทางใกล้เคียงกันประมาณ 120 กิโลเมตร โดยประเด็นสำคัญทางกายภาพและยุทธศาสตร์การขนส่งในภูมิภาคจะเป็นการเชื่อม 2 ภูมิภาค จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ในอนาคตสามารถนำเรือสินค้าเทียบท่าเรือระนองของไทยผ่านโครงสร้างทางถนนและทางรถไฟไปต่อที่ท่าเรือที่ชุมพร ก่อนจะนำส่งสินค้าต่อเรือมุ่งสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออก ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี เป็นประเทศใช้น้ำมัน การบริโภค และเมื่อเชื่อมโยงถึงจีนก็จะเป็นเสมือนโรงงานผลิตสินค้าของโลก
ทั้งนี้ สนข.ประเมินว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท เมื่อโครงการเกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อไทย เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่มีทั้งปัญหาความแออัดจากเรือสินค้าจำนวนมากและปัญหาความปลอดภัยในการเดินเรือจากโจรสลัด และการเกิดขึ้นของโครงการแลนบริดจ์จะช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งได้ 2 วัน ส่งผลดีโดยตรงต่อการลดต้นทุนโลจสิต์ของไทยให้เหลือไม่เกิน 12% ต่อจีดีพี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติจากปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยมีมากกว่า 13% ต่อจีดีพี
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ล่าสุดรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ สนข.เร่งศึกษาวงเงิน 68 ล้านบาท โดยกำหนด เป้าหมายชัดเจนว่าระยะเวลา 12 เดือนของกรอบการศึกษา 30 เดือน ตำแหน่งที่ตั้งท่าเรือ 2 จังหวัดจะต้องชัดเจน การออกแบบรายละเอียด การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รูปแบบธุรกิจ จนถึงการร่วมทุนแบบ PPP กับเอกชน ขณะที่ รฟท.ก็ได้รับกรอบวงเงิน 90 ล้านบาท เพื่อออกแบบโครงการรถไฟสายชุมพร-ระนองแล้วเช่นเดียวกัน
ส่วนรูปแบบการก่อสร้างนั้น สนข.ยืนยันว่าปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่เข้ามาดำเนินการ โดยแนวเส้นทางทั้งทางมอเตอร์เวย์และรถไฟจะใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีความพร้อม โดยโครงการจะมีอุโมงค์ 7-9 แห่ง ทำให้การพัฒนาเส้นทางไม่ประสบปัญหาคดเคี้ยวที่ทั้งสิ้นเปลืองพลังงาน หลีกเลี่ยงการผ่านพื้นที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลกระทบเมื่อต้องเวนคืนพื้นที่ก่อสร้าง และง่ายต่อการจัดการปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ขณะที่การบริหารโครงการแลนด์บริดจ์จะใช้แนวทางการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลบริหารโครงการเพียงรายเดียว เพื่อให้เกิดการจัดการบริหารระบบขนส่งให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอายุการให้สัมปทานเอกชนนั้น เนื่องจากโครงการมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีอายุการให้สัมปทานไม่น้อยกว่า 50 ปี จึงจะสามารถทำให้ผู้ลงทุนเกิดผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหลังโครงการเปิดใช้งานแล้ว.-สำนักข่าวไทย