กรุงเทพ 17 ก.ค. – “มนพร” รมช.คมนาคม ชี้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่ได้นำภาษีของประชาชนภาคอื่นมาใช้ เพราะกรุงเทพมหานคร เสียภาษีมากที่สุดของประเทศถึง 48-49% โดยเตรียมนำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และ พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางราง เข้าสภาฯ เดือนหน้า พร้อมเร่งโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเสวนาระดมสมองภาครัฐ ภาคเอกชนในหัวข้อ “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก Unlocking Thailand Future” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวระหว่างร่วมวงเสวนาหัวข้อ “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก Unlocking Thailand Future” ว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งใจทำมาตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและทำต่อเนื่องมาจนถึงยุคนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยยอมรับเป็นเรื่องยากแต่เราจะทำให้สำเร็จ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งปลดล็อกภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ลดรายจ่ายขยายโอกาส โดยเดินหน้าโครงการ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมทุกสายทาง โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ร.บ.ร.ฟ.ม. และ พรบ.ตั๋วร่วม โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งนี้ยืนยันว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทรวงคมนาคมคิดถึงประชาชนในทุกมิติทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ไม่อยากให้มองว่าโครงการนี้เอาภาษีคนทั้งประเทศมาสนับสนุนคนกรุงเทพมหานคร เพราะหากดูรายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลในปี2567 ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีมากเป็นอันดับหนึ่ง 48-49% สูงกว่าจังหวัดอื่นในทุกภูมิภาค
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังเตรียมจัดหารถเมล์ไฟฟ้าเพื่อนำมาให้บริการในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนกรุงเทพมีรถใหม่ใช้ รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาฝุ่นด้วย
นางมนพร กล่าวว่า หากจะปลดล็อกประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ซึ่งโครงการที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนคือ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะครอบคลุมการพัฒนาใน 4 จังหวัดคือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพราะการขนส่งทางทะเลมีต้นทุนที่ต่ำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ซึ่งจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก สร้างรถไฟทางคู่เชื่อม มูลค่าลงทุนรวม 1 ล้านล้านบาท โดยจะลงทุนในเฟสแรก มูลค่า 5แสนล้านบาท
นอกจากนี้จะเร่งเดินหน้ารถไฟทางคู่ โดยขยายเส้นทางจากนครราชสีมาและหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อไปยัง สปป ลาว และ จีน รวมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเพิ่มความแข่งขันให้กับประเทศ มั่นใจว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ทางราง ทางอากาศ จะปลดล็อคประเทศไทยให้เติบโตไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน.-513-สำนักข่าวไทย