กรุงเทพฯ 29 ก.ย. – ธนาคารโลกมองไทยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ตรงเป้า พร้อมคาดจีดีพีไทยปีนี้ -8.3% ใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้นเกือบ 3 ปี
ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานอัพเดทด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยคาดการณ์ว่าปี 2563 ภูมิภาคนี้จะเติบโตขึ้นเพียง 0.9% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 โดยจีนคาดว่าจะเติบโต 2% เนื่องจากจีนสามารถควบคุมการติดเชื้อใหม่ได้ในอัตราที่ต่ำนับตั้งแต่เดือนมีนาคมและยังมีการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐต่อนับตั้งแต่เดือนมีนาคมและจะสามาเติบโตได้ถึง 7.9% ในปี 2564 สำหรับประเทศอื่นในภูมิภาคคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงโดยเฉลี่ย -3.5% และปี 2564 จะขยายตัวได้เฉลี่ย 5.1% ขณะที่ไทยคาดว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ -8.3% และกรณีแย่สุด คือ -10.4% และในปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ 4.9%
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด มาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งในและนอกระบบของรัฐบาลนั้นสามารถทำได้ดี และมองว่าไทยจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้เหมือนวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ขณะที่ตัวเลขประมาณการณ์จีดีพีไทยมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบทั้ง -8.3% และ -10.4%
ขณะที่การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มองว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาได้ จึงมองว่ารัฐบาลต้องพยายามหาสมดุลระหว่างนโยบายด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อประเทศไทยได้ ขณะที่ระยะยาวต้องถามว่าจะอยู่กับมาตรการนี้ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและเศรษฐกิจได้อีกนานแค่ไหน
ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค แต่มองว่ามาตรการต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้ และรัฐบาลควรดำเนินนโยบายรอบ 2 โดยถอดบทเรียนจากการดำเนินนโยบายรอบแรก โดยมองมาตรการคนละครึ่งที่ให้เงินคนละ 3,000 บาท อาจไม่ตรงจุด จึงควรมีมาตรการอื่นเพิ่มอีกเพื่อกระตุ้นการบริโภค และสิ่งสำคัญ คือ จะคงสภาพการจ้างงานได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น
ด้านคุณเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า กรณีแย่สุดจีดีพีไทยจะติดลบถึง 10.4% คือ เกิดการระบาดรอบ 2 และนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งไทยยังมีภาวะช็อคจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปีที่ส่งผลต่อรายได้ภาคเกษตรและภัยแล้งยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงจากน้ำท่วม รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจและการชุมนุมที่ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลไปถึงการดำเนินนโยบายและทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง อย่างไรก็ตาม จากคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ -8.3% เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 2 ปีในการฟื้นตัว แต่หากปีนี้ -10.4% ก็อาจจะใช้เวลานานขึ้นถึง 3 ปี เศรษฐกิจจึงจะกลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด
รายงานของธนาคารโลกยังระบุว่าความยากจนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยคาดว่าปีนี้จะมีคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านคน และยังสร้างชนชั้นที่เรียกว่า “คนจนกลุ่มใหม่” ขึ้นมา พร้อมแนะทางเลือกของนโยบาย เช่น การลงทุนในการตรวจคัดกรองและความสามารถในการติดตาม และการขยายการให้ความคุ้มครองทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือคนจนและผู้ที่อยู่นอกระบบ เป็นต้น หากไม่มีการดำเนินการรับมือในรูปแบบที่หลากหลาย โรคระบาดอาจทำให้การเติบโตของภูมิภาคน้อยลงในช่วง 10 ปี ประมาณ 1% ต่อปี ซึ่งจะกระทบต่อครัวเรือนที่ยากจนมากที่สุด
นอกจากนี้ หนี้สินของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งงบดุลของธนาคารที่ย่ำแย่และความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่างบประมาณที่ขาดดุลอย่างมหาศาลในภูมิภาคนี้จะเพิ่มหนี้ให้กับรัฐบาลมากขึ้นเฉลี่ย 7% ของจีดีพีปี 2563 ซึ่งในรายงานเรียกร้องให้มีการปฏิรูปงบประมาณ เพื่อระดมรายได้ผ่านการเรียกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าและลดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ลง และยังพบว่าบางประเทศมีหนี้ค้างสะสมที่ไม่สามารถจัดการได้และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก .-สำนักข่าวไทย