สำนักงานสลากฯ 23 ก.ย. – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดจีดีพีปี 63 หดตัว 7-10% ยอมรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย จ้างงาน เพิ่มเงินออกสู่ระบบนับแสนล้านบาท ระบุวิกฤติเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ไปอีก 1-2 ปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจ หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังดูแล ทั้งมาตรการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 200,000 ตำแหน่ง และมาตรการคนละครึ่ง 3,000 บาท รวมถึงการประกาศวันหยุดยาว 2 ช่วง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบประมาณ 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่ามาตรการการใช้จ่ายคนละครึ่ง 3,000 บาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่การเพิ่มวันหยุดยาวเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายในระบบนับ 10,000 ล้านบาท ส่วนการจ้างงานใหม่ ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่ม 19,000 ล้านบาท รวมกับนายจ้างอีก 19,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งหมดมีเงินหมุนเวียนนับแสนล้านบาท จึงหวังว่าช่วยผลักดันให้จีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 1-2%
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว จากที่เคยติดลบต่ำสุด 12.2% ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยคาดการณ์ไตรมาส 3 จะติดลบเพียง 8-10% และไตรมาส 4 จะติดลบ 5-7% ส่งผลให้ทั้งปีติดลบเพียง 7-10% หากสถานการณ์การเมืองไม่รุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ด้วยการมีวัคซีนเข้ามา ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจให้ได้ตามที่คาดไว้ ภาครัฐควรใช้นโยบายการคลังมากขึ้น เช่น การออกมาตรการชิมช้อปใช้ในรูปแบบการลดหย่อนภาษี ไม่ใช่การให้เงินใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลงทุนในพื้นที่ และการทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เร็วขึ้น.-สำนักข่าวไทย