กรุงเทพฯ 18 ก.ย. – รัฐบาลทุ่มหมื่นล้านยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5 ล้านไร่ เพิ่มอำนาจต่อรองเกษตรกร อัพเกรดมาตรฐานคุณภาพ ลดต้นทุน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด19 กรอบวงเงิน 13,900 ล้านบาท สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการต่อยอดการดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและการขายสินค้า อีกทั้งภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนองค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยีได้ตรงกลุ่มอย่างเต็มที่
สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่นี้ มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ 260,000 ราย จำนวน 5,250 แปลง คิดเป็นเป็นพื้นที่รวม 5 ล้านไร่ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมบริหารจัดการการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ เป้าหมายปลายทางคือการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ส่วนการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี นางสาวรัชดา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ภายในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร และจัดอบรมเกษตรกร แหล่งเรียนรู้ และสนับสนุน Smart Farmer และ Young Smart Farmer มากไปกว่านั้น การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่จะดำเนินการควบคู่ไปกับหลายหน่วยงาน เช่น ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและกาตลาดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแลเรื่องการจำหน่ายสินค้าเกษตรตามนโยบาย “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ช่วยสนับสนุนแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้การสนับสนุนในส่วนของน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำสนับสนุนด้านการวางระบบน้ำ
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 2,800 แปลง เกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 133,000 ราย และแน่นอนว่าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้จะนำไปสู่จำนวนเกษตรกรและจำนวนแปลงที่ได้รับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกมาก ที่สำคัญประเมินว่าสามารถเพิ่มรายได้และลดต้นทุน คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 11,000 ล้านบาท จากการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง.-สำนักข่าวไทย