กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – ปตท.รับนโยบายรัฐ ขยายเวลาสนับสนุนส่วนลดราคาเอ็นจีวีแก่รถโดยสารสาธารณะ ถึง 31 ธันวาคม 2563 คาดดีมานด์ก๊าซฯภาพรวมปีนี้หดตัว 8 – 9% คาดกลับมาสู่ภาวะปกติช้าสุดปลายปีหน้า สถานีแอลเอ็นจีหนองแฟบเสร็จปี 65 พร้อมรองรับดีมานด์ก๊าซเพิ่มและความเสี่ยงเปลี่ยนมือแหล่งเอราวัณ
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เห็นชอบขยายเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีกเอ็นจีวีสำหรับรถโดยสารสาธารณะ เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ด้วยราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล) หรือจนกว่าราคาขายปลีกเอ็นจีวีลดลงต่ำกว่า 13.62 บาท เพื่อสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ได้รับการสนับสนุนผ่านบัตรส่วนลดราคาเอ็นจีวี มีจำนวนกว่า 60,000 ราย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้ร่วม ขสมก. รถสองแถว และ รถตุ๊กตุ๊กกว่า 46,120 ราย และกลุ่มรถบัสโดยสารร่วม ขสมก. รถตู้ร่วม บขส. และรถโดยสารร่วม บขส. กว่า 13,941 ราย ซึ่ง ปตท. ได้ให้การสนับสนุนส่วนลดราคาเอ็นจีวีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา รวมระยะเวลากว่า 8 ปี
นายวุฒิกร กล่าวถึงแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้จะอยู่ที่ราว 4,500-4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ลดลง 9-10% จากระดับเกือบ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปีที่แล้ว หลังการใช้ก๊าซฯในภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดมีความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 8-9% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และจากผลกระทบที่ยืดเยื้อ คาด ก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี ถึงปลายปี 64
ปัจจุบัน ปตท.ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีรับ-จ่าย LNG ที่หนองแฟบ ในจ.ระยอง เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 เมื่อรวมกับสถานีรับ-จ่าย LNG มาบตาพุด ก็จะทำให้ปตท.มีขีดความสามารถในการรับ-จ่าย LNG รวม 19 ล้านตัน/ปี หรือราว 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 65 ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯรวมถึง แม้หากเกิดกรณีที่การเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการของแหล่งก๊าซฯเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในช่วงปี 65-66 มีปัญหาจนทำให้การผลิตก๊าซฯอาจไม่ต่อเนื่องและล่าช้าก็ตาม
สำหรับแผนการลงทุนอื่น ๆ ของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯปตท. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างระบบท่อส่งก๊าซฯนั้น ยังคงเป็นไปตามแผนไม่ได้มีการชะลอลงทุนแต่อย่างใด
นายวุฒิกร กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันปตท. นำเข้า LNG spot เข้ามาแล้ว 7 ลำเรือ คิดเป็นปริมาณ 4-5 แสนตัน โดยมีราคานำเข้าเฉลี่ยราว 2.50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากเป้าหมายที่จะนำเข้า 11 ลำเรือในปีนี้ หรือกว่า 7 แสนตัน แต่คาดว่าหลังจากนี้จนถึงสิ้นปี ความจำเป็นในการนำเข้า LNG ลดลงไป เนื่องจากราคา LNG spot ปรับตัวขึ้นแรงมาที่กว่า 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ราคาใกล้เคียงกับอ่าวไทยก็อาจไม่ต้องลดการเรียกรับก๊าซฯจากอ่าวไทยเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
สำหรับการจัดหาก๊าซฯของปตท.จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ก๊าซฯในอ่าวไทย ราว 70% ,ก๊าซฯจากเมียนมา ราว 12-15% ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้า LNG ในส่วนสัญญาระยะยาว ยังคงเป็นไปตามแผนนำเข้า 5.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งในปีนี้ก็นำเข้ามาเกือบทั้งหมดแล้ว หรือคิดเป็นปริมาณราว 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และนำเข้า LNG spot ราว 4-5 แสนตัน หรือราว 56-70 ล้านลูบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก . – สำนักข่าวไทย