กรุงเทพฯ 14 ส.ค. – ราชกรุ๊ปรอนโยบาย รมว.พลังงานคนใหม่ตัดสินใจนโยบาย ภาพเศรษกิจพลังงานเปลี่ยนหลังโควิด-19
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รอฟังนโยบายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในเรื่องการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีว่าจะเปิดเสรีทั้งหมด หรือ ให้เอกชนจัดหาและขายให้ ปตท.เป็นผู้ขายรายเดียว รวมทั้งรอการตัดสินใจเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จากเดิมในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ายระยะยาว 20 ปี (PDP 2018) ระบุว่าจะเริ่มรับซื้อรอบใหม่ปี 2569 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจติดลบการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้สำรองไฟฟ้าประเทศสูงถึงร้อยละ 40 ดังนั้น คงต้องฟังนโยบายว่าจะเลื่อนหรือชะลอโครงการโรงไฟฟ้าอย่างไร ซึ่งโครงการของบริษัทมีหลายโครงการเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ
“โครงการโรงไฟฟ้าเซกอง 4 สปป.ลาวที่เราร่วมทุนอยู่ระหว่างเจรจาค่าไฟฟ้า รอว่า นโยบายจะเลื่อนรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศหรือ ไม่ การนำเข้าแอลเอ็นจีโดยโรงไฟฟ้าหินกองก็รอแผนว่าโครงสร้างราคาก๊าซฯเป็นอย่างไร หากอนุมัตินำเข้าค่าผ่านท่อก๊าซฯ ของ ปตท.จะคิดเฉพาะท่อบนบกหรือไม่ ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเตรียมแผนไว้ 2 แห่ง เมื่อโควิด-19 มา ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป รอดูว่านโยบายรัฐจะเป็นอย่างไร” นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวด้วยว่า บริษัทเตรียมร่วมกับพันธมิตรยื่นประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้น นครปฐม-ชะอำ ส่วนโครงการลงทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงชีวิมวล (Wood pellet) ที่จะลงทุนใน สปป.ลาวนั้น คาดว่าจะสัมปทานเช่าพื้นที่ได้ไตรมาส 3/2563 พื้นที่ 40,000 ไร่ แต่เบื้อต้นจะลงทุนก่อน 20,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาขายเชื้อเพลิงให้กับลูกค้าในจีนและเกาหลีใต้ไว้หลายราย
นอกจากนี้ บริษัทฯ เดินหน้าลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ในปีนี้ โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯ สามารถลงทุนขยายกำลังผลิตทั้งโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการ และส่วนขยายของโรงไฟฟ้าเดิมอีก 1 โครงการ ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 242.62 เมกะวัตต์ ส่งผลกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเป็น 8,177.68 เมกะวัตต์ ด้านธุรกิจระบบสาธารณูปโภค บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มทุน 280 ล้านบาทในบริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง (บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 51) เพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์จากบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นฐานธุรกิจในการสร้างรายได้นับจากนี้เป็นต้นไป
สำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน 2,516.29 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัทฯ 2,434.98 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.1 จากงวดเดียวกันของปี 2562 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากการรับรู้ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน การหยุดเดินเครื่องตามแผนการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งส่งผลให้รายได้ลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้จากโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่ลงทุนซื้อกิจการเมื่อปลายที่แล้ว และโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปีที่แล้ว ยังส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้รวมของบริษัทฯ ในครึ่งปีแรกนี้ด้วย
ทั้งนี้ ครึ่งหลังของปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จาก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้านวนคร กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้เจรจาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 9 ราย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท Alinta Sales Pty Ltd. รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ในเวียดนามหลังจากที่บริษัทฯ ลงทุนในกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเดินหน้าเจรจาการร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนต่างประเทศที่มีอยู่ในมือขณะนี้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 400 เมกะวัตต์ และบรรลุเป้าหมายปีนี้ 537 เมกะวัตต์ได้ตามแผน
“ตามแผนการลงทุนของบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนโครงการใหม่และโครงการที่ได้ร่วมลงทุนแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกบริษัทฯ ได้ใช้เงินลงทุนแล้ว 3,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 11,300 ล้านบาท จะใช้ลงทุนโครงการที่ลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง และยังมั่นใจจะเติบโตถึงเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาท ในปี 2566 ได้อย่างเต็มที่” นายกิจจา กล่าว. – สำนักข่าวไทย