กรุงเทพฯ 16 ต.ค. – คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา รุดพบปะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อรับทราบและติดตามการดำเนินงานต่าง ๆ ด้านนโยบายพลังงาน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมพบปะหารือกับคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา นำโดย พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ สมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ เพื่อคณะกรรมาธิการฯ จะได้ติดตามและรับทราบนโยบายการทำงานของกระทรวงพลังงานทุกแง่มุม ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน การรื้อถอนแท่นการผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอน รวมถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงทิศทางสำคัญให้คณะกรรมาธิการฯ ทราบ โดยสรุป 3 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องที่ 1 กระทรวงพลังงานผลักดันนโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารจัดการพลังงานไปในกลุ่มฐานรากมากขึ้น จากเดิมมีเพียงผู้เล่นเป็นรายใหญ่ ทิศทางจะเป็นกระแส Prosumer ผู้ใช้ไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าได้เอง กระจายการผลิตพลังงานสู่ชุมชน เป็นนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนโดยอาศัยจุดแข็งที่แต่ละชุมชนมีวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทนที่จะเผาทิ้งเกิดฝุ่น PM2.5 หลังจากนี้จะสนับสนุนเชื้อเพลิงจากขยะเพื่อนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าในลำดับต่อไป
เรื่องที่ 2 การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งกระทรวงฯ ได้นำร่องด้วยการปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มดิบในดีเซล เป็น B10 เพื่อเป็นดีเซลพื้นฐานแทน B7 จะประกาศใช้ทั่วประเทศวันที่ 1 มีนาคม2563 เป็นต้นไป ซึ่งช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั่วประเทศ โดยกระทรวงฯ จะทำหน้าที่ดูแลสตอกของไบโอดีเซล (B100) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาปาล์ม หลังจากนี้พืชพลังงานถัดไปที่จะเข้ามาดูแล คือ อ้อยและมันสำปะหลังที่ใช้ผลิตเป็นเอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินเป็นกลุ่มแก๊สโซฮอล
เรื่องที่ 3 การวางประเทศไทยเป็น Leader ด้านพลังงาน 2 เรื่อง คือ 1.การเป็นศูนกลางหรือฮับ (Hub) ด้านการซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน โดยซื้อไฟจาก สปป.ลาวจำหน่ายให้แก่ เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย เปลี่ยนบทบาทให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเทรดเดอร์ภูมิภาค 2.การเป็นฮับด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาค โดย ปตท.ได้ประกาศความพร้อมดังกล่าวแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้ชี้แจงต่อข้อสงสัยของกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงฯ ด้วยว่า กระทรวงฯได้รับงบประมาณจัดสรรน้อยเพียง 2,000 กว่าล้านบาท คิดเป็น 0.07%ของงบประมาณแผ่นดินรวม แต่สามารถสร้างรายได้กลับมาได้มากราว 10% ของงบประมาณ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแต่อย่างใด โดยโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีโมเดล 3 รูปแบบ คือ โมเดลที่เอกชนลงทุนร่วมกับชุมชน โมเดลที่ผลิตใช้เองอย่างเดียวสำหรับชุมชน จะมีงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุน และโมเดลโรงไฟฟ้าขยะ โดยบริหารจัดการองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)
นอกจากนี้ ในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสรุปว่าจะเร่งรัดการฟื้นการเจรจาตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อหาแนวทางการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน ส่วนการรื้อถอนของแหล่งสัมปทานที่กำลังหมดอายุอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออกโดยหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้ทิศทางสำคัญของนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับทิศทางโลกให้คณะกรรมาธิการฯ ด้วยว่า การใช้พลังงานทดแทนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น การใส่ใจต่อประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านในยุค Disruption โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งชณะนี้อยู่ระหว่างหารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันแผน EV ของประเทศทั้งระบบออกมาช่วงต้นปีหน้า 2563 โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage เพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นผู้นำด้าน EV ระดับภูมิภาคต่อไป.-สำนักข่าวไทย