กรุงเทพฯ 7 ส.ค.- จีซี กำไรสุทธิไตรมาส 2/63 รวม 1,671 ล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาส 1/63 ประมาณ 119% แต่ยังขาดทุนสตอกน้ำมัน จีซี, ไตรมาส 2,ขาดทุนคาดแนวโน้มตลาดน้ำมันครึ่งปีหลังน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 42-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
น.ส.ดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดแนวโน้มตลาดน้ำมันในครึ่งปีหลังน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่เฉลี่ย 42-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2563 อยู่ที่ระดับ 92.1 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 7.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากปีที่ผ่านมา แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของโลกจนเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันได้ ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจะยังคงได้รับปัจจัยกดดันส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานและน้ำมันแก๊สโซลีนลดลง แต่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้น คาดส่วนต่างราคาดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 8-9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
“โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนปะทุขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้โรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีบางประเทศลดกำลังการผลิตลงเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่หายไปจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นครึ่งปีหลัง” น.ส.ดวงกมล ระบุ
สำหรับการดำเนินการของโรงกลั่นจีซี บริษัทปรับลดการผลิตน้ำมันอากาศยานที่มีแนวโน้มอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงและผลิตน้ำมันดีเซลที่ยังมีความต้องการที่ดีอยู่ทดแทน แต่คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตทั้งปีได้เต็มกำลังที่ 101% ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การผลิตยังคงเป็นไปตามแผน แนวโน้มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ คาดว่าส่วนต่างพาราไซลีนกับแนฟทาครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 160-220 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากมีอุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหม่ ขณะที่อุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำ เส้นใยและสิ่งทอ (Fiber Filament) อาจชะลอตัว ด้านส่วนต่างราคาเบนซีนและแนฟทาจะอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากอุปทานใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2563 ขณะที่ความต้องการจากผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น สไตรีนโมโนเมอร์และฟีนอลยังคงทรงตัว
ทั้งนี้ ปีนี้บริษัทมีแผนการปิดซ่อมบำรุงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของหน่วยผลิตอะโรเมติกส์ 2 ในไตรมาส 3/2563 คาดการใช้กำลังการผลิตของปี 2563 อยู่ที่ 92% ส่วนโอเลฟินส์คาดจะอยู่ที่ 97% จากการปิดซ่อมบำรุงเสร็จไตรมาส 1/2563 และคาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของธุรกิจโพลิเมอร์จะอยู่ที่ 101%
สำหรับผลประกอบการ GC ไตรมาส 2/2563 มีรายได้จากการขายรวม 69,271 ล้านบาท ลดลง 26% จากไตรมาส 1/63 และลดลง 35% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนจากสตอกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net Reversal of NRV) 899 ล้านบาท รวมทั้งผลการขาดทุนตราสารอนุพันธ์ 340 ล้านบาท และจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาส จึงส่งผลให้บริษัทมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,501 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิรวม 1,671 ล้านบาท (0.37 บาท/หุ้น) สูงขึ้นจากไตรมาส 1/63 ราว 119% แต่ลดลง 24% จากไตรมาส 2/62 โดยบริษัทปรับลดการผลิตน้ำมันอากาศยานเปลี่ยนไปผลิตเป็นดีเซลมีค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ 2.31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สำหรับธุรกิจอะโรเมติกส์มีส่วนต่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ (BTX P2F) สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 163 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 176 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีผลประกอบการที่ดีขึ้น แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) เฉลี่ยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ปริมาณการขายปรับตัวสูงขึ้นจากการกลับมาดำเนินการผลิตเต็มที่ ทำให้ Adjusted EBITDA Margin ไตรมาสนี้ขึ้นจาก 9% เป็น 11% บริษัทยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน 807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักเป็นผลจากธุรกิจโพลีโพรพิลีน (PP) ดีขึ้น ขณะที่ผลประกอบการในส่วนของธุรกิจไบโอพลาสติกที่ดำเนินการผ่านบริษัท Natureworks ในสหรัฐปรับตัวดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย