นนทบุรี 4 ส.ค. – พาณิชย์ร่วมถกความมั่นคงทางอาหารภูมิภาคอาเซียน หวังสร้างความเข้มแข็ง เตรียมพร้อมรับมือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก
นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเลขานุการถาวรคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Secretariat) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ครั้งที่ 40 ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้มีสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นมาเลเซีย และ สปป.ลาว) สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (AFSIS) และองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) เข้าร่วมประชุม
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารปัจจุบัน รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการของคณะกรรมการ AFSRB ต่อไป
“การประชุม AFSRB เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญของอาเซียนที่ไทยสามารถแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำในด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าว รวมถึงเป็นกลไกสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการเตรียมพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนกลายเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน” นางมนัสนิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนปริมาณความต้องการบริโภคตามจำนวนประชากรในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นนั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าเกษตรของไทย ตลอดจนแสวงหากลไกความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาคและการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ การประชุม AFSRB ระหว่างประเทศสมาชิกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งประเมินและคาดการณ์สถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ทั้งทางด้านการผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองสินค้าอาหารหลักของอาเซียน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจถึงความมั่นคงด้านอาหาร โดยกรอบความร่วมมือฯ ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือด้านอาหารระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย