กรุงเทพฯ 27 ต.ค.-ตลาดหุ้นไทยลุ้นขยับต่อหลังผันผวนปลายสัปดาห์ รอปัจจัยต่างประเทศ ถ้อยแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของเฟด
หลังมีแรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนของกองทุน
LTF/RMF และจากผลประกอบการไตรมาส
3/61 ของหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาดีช่วงปลายสัปดาห์
การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยหลุดระดับ 1,600 จุดก่อนฟื้นตัวขึ้น
โดยดัชนี SET
ปิดที่ระดับ 1,628.96 จุด ลดลงร้อยละ 2.34 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.57 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ระดับ
55,770.91 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลงร้อยละ 3.07 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ระดับ 413.69 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์
ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงจากผลของสงครามการค้า
ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง รวมถึงตัวเลขการส่งออกของไทย หดตัวมากกว่าตลาดคาด
อย่างไรก็ตาม ดัชนี SET สามารถฟื้นตัวขึ้นและลดช่วงลบลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีแรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนของกองทุน LTF/RMF
และจากผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาดี
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า
ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด ขณะที่
แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,655 จุด
ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่
ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ
ได้แก่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนก.ย. ดัชนี PMI ภาคการผลิต
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง
ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของ BOJ
และ BOE ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2561 (เบื้องต้น)
ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค.
ของประเทศแถบยุโรปและเอเชีย รวมถึงข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ย.
ของญี่ปุ่น
เงินบาททยอยอ่อนค่าจนหลุดแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันจากข้อมูลการส่งออกไทยที่ออกมาหดตัวกว่าที่คาด
ประกอบกับมีปัจจัยลบตลอดสัปดาห์จากแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่
เงินดอลลาร์ฯ
ได้รับแรงหนุนจากการเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องแผนงบประมาณของอิตาลี
และสหภาพยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ
ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมช่วงปลายสัปดาห์จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อาทิ
ข้อมูลการทำสัญญาขายบ้านรอปิดการขาย และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนก.ย.
ในวันศุกร์ (26 ต.ค.) เงินบาทปิด 33.09 อ่อนค่าจากระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ต.ค.)
สำหรับสัปดาห์หน้า (29 ต.ค.-2
พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ต้องติดตามรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ย.
และเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ประกอบด้วย
ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ค่าจ้าง
และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจาก
PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ย. รวมถึงดัชนีราคาบ้านเดือนส.ค. นอกจากนี้
ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ
และ BOE สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ
และจีน และดัชนี PMI ของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ .-สำนักข่าวไทย