กรุงเทพฯ 14 ม.ค.-คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน เสนอรัฐเร่งทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรฯระยะที่4 ภายใน 2 ปี พื้นที่เหมาะสมในภาคใต้ ที่ในอดีตเคยมีแผน Southern Seaboard
นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้จัดทำแนวทางดำเนินการปฏิรูปด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยเสนอต่อภาครัฐว่าควรมี “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4” เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้ให้กับประชาชน พร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (New S-curve) ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ “Thailand 4.0” โดยควรจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐนำไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีหรือ ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2567 ส่วนแหล่งเงินลงทุนได้เสนอให้เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากเป็นเรื่องระดับประเทศ
สำหรับการดำเนินการ แบ่งเป็นระยะแรกพัฒนาโครงการในพื้นที่ภาคชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(อีอีซี)ลงทุนตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยลงทุนสร้างโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นที่ใช้แนฟทา หรือ ก๊าซปิโตรเลียม(LPG) เป็นวัตถุดิบ มีกำลังการผลิตเอทิลีน 1-1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเคียงกำลังการผลิตขนาดใหญ่ในโลก และเกิดการประหยัดเชิงขนาด (Economy of Scale) รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายที่จะผลิตปิโตรเคมีชนิดพิเศษ (Specialty products) และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value-added products) และทดแทนปริมาณ เอทิลีน ที่ผลิตจากวัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติที่จะลดลง สนับสนุนอุตสาหกรรมโรงกลั่นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตวัตถุดิบ (แนฟทา, LPG) ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น คาดว่า การขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท
นายพรชัย กล่าวว่า ในระยะยาว ได้เสนอให้หาพื้นที่ใหม่เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมการกระจายรายได้สู่พื้นที่อื่น โดยคณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เสนอพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีชายฝั่งทะเล 2 ด้าน เหมาะสมที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมฯครบวงจร โดยควรมีการพัฒนาคอมเพล็กซ์โรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีเข้าด้วยกัน ให้มีกำลังการผลิตขนาดเทียบเคียงกำลังการผลิตขนาดใหญ่ในโลก ,พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องให้เป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกัน (Cluster) ตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย และผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีคอล อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสาธารณูปโภคให้รองรับ และให้ได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนทัดเทียมอีอีซี เป็นต้น – สำนักข่าวไทย