กรุงเทพ ฯ 1 ม.ค. – ศูนย์วิจัยทองคำ เผยผลสำรวจคนไทยนิยมซื้อสร้อยคอทองคำ น้ำหนัก 1บาท พบคนส่วนใหญ่ขายทองเมื่อต้องใช้เงินในภาวะฉุกเฉิน
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคทองคำในประเทศไทย ว่าศูนย์วิจัยทองคำ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 926 คน จากทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 68 เคยซื้อทองรูปพรรณ โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับและห้อยพระ มีความถี่ในการซื้อมากกว่า 2 เดือนต่อหนึ่งครั้ง และ ร้อยละ 95 ของกลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อทองรูปพรรณ ซื้อทองรูปพรรณ ประเภทสร้อย รองลงมาคือแหวน และ สร้อยข้อมือ
นอกจากนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อทองรูปพรรณ ร้อยละ 75 เลือกซื้อทอง 96.5 % โดยให้เหตุผลสำคัญของการเลือกซื้อทองประเภทนี้ว่ามีลวดลายให้เลือกหลากหลาย ในแต่ละครั้งของการซื้อทองรูปพรรณ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกน้ำหนักทอง 1บาท โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อแต่ละครั้งประมาณ 20,001-50,000 บาท และ มีแหล่งซื้อสำคัญคือร้านทองในห้าง และ ร้านทองในชุมชนหรือตลาด ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อทองรูปพรรณส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 65 ชื่นชอบทองรูปพรรณลักษณะตัน
นายจิตติ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 45 ของกลุ่มตัวอย่างเคยขายทองรูปพรรณ โดยให้เหตุผลหลักคือมีความจำเป็นต้องใช้เงินยามฉุกเฉิน และมีแหล่งที่ขายคือร้านที่ซื้อ/ขายกันอยู่เป็นประจำ แต่มีการขายไม่บ่อยนัก มากกว่า 6 เดือน ต่อครั้ง
ส่วนผลสำรวจเกี่ยวกับทองคำแท่ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20 เคยซื้อทองคำแท่ง โดยวัตถุประสงค์ในการซื้อเพื่อการลงทุน ร้อยละ 75 รองลงมาซื้อเป็นของขวัญ หรือ รางวัลให้ผู้อื่นและร้อยละ 51 ซื้อทองคำแท่งที่มีน้ำหนักประมาณ 1 บาท มีค่าใช้จ่ายในการซื้อแต่ละครั้งค่ำกว่า 50,000 บาท โดยร้อยละ 43 ของกลุ่มตัวอย่างซื้อทองคำจากร้านขายทองย่านเยาวราชและร้อยละ 40 เลือกซื้อทองคำจากร้านขายทองในห้าง ทั้งนี้ ผู้ซื้อทองคำแท่งมีความคาดหวังในกำไรต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาทที่ซื้อ ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป- สำนักข่าวไทย