กรุงเทพฯ 4 พ.ย.- สัปดาห์นี้(บาทแข็งค่าขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเล็กน้อย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานการเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์นี้ แข็งค่าขึ้น ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ จากการคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเลือกนายเจอโรม พาวเวลล์ เป็นประธานเฟดคนต่อไป หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลนหมดวาระในเดือนก.พ.ปีหน้า อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนการรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในวันศุกร์ (3 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ต.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องติดตามการตอบรับของนักลงทุนหลังการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ย.ของสหรัฐฯ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศและเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของจีน รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ส่วนจุดสนใจเพิ่มเติมของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่การประชุมกนง. ในวันที่ 8 พ.ย. นี้
ส่วนสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,701.47 ลดลง 0.85% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 9.24% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 60,390.33 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 570.72 จุด ลดลง 1.30% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ประกอบกับมีแรงหนุนเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร อย่างไรก็ดี SET Index ปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งช่วงปลายสัปดาห์ยังมีกระแสข่าวที่ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับครม. เข้ามาเพิ่มเติม ขณะที่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/60 ของบริษัทจดทะเบียน ก็ออกมาไม่ดีอย่างที่คาดการณ์
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทย สัปดาห์หน้า (6-10 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,685 และ 1,675 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,705 และ 1,715 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินไทย ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค.ของจีน ดัชนี PMI เดือนต.ค.ของยูโรโซน และดัชนีราคาที่อยู่อาศัย Halifax เดือนต.ค. ของอังกฤษ-สำนักข่าวไทย