กรุงเทพฯ 14 ก.ค. – “พิชัย” ชี้การเจรจากับสหรัฐ ไม่ง่าย แต่ไทยต้องเดินหน้า แม้ท่าทีของสหรัฐฯ จะเป็นการแสดงความต้องการฝ่ายเดียว แต่ไทยต้องยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก ควบคู่กับการรักษาสมดุลกับประเทศคู่ค้าอื่น ชี้เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ คือการเปิดตลาดให้ได้มากที่สุด และผลักดันให้ประเทศคู่ค้าใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพา supply chain จากจีน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องวิเคราะห์ให้ชัด
นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย หรือ “ทีมไทยแลนด์” เปิดเผยว่า การเจรจากับสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ แม้จะมีความซับซ้อนและท้าทาย เนื่องจากสหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนว่าเป็นการยื่นข้อเสนอในลักษณะ “ฝ่ายเดียว” แต่ไทยก็ต้องเดินหน้าเจรจา โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก พร้อมรักษาสมดุลกับประเทศคู่ค้าอื่น
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ ย้ำชัดคือ ต้องการให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดให้ได้มากที่สุด และจัดการกับ “Local Content” หรือสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศในกระบวนการผลิตสินค้า ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ อาจถูกพิจารณาว่าเป็นการ “สวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิด” หรือเป็นสินค้า “Transshipment” ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าควรใช้เพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสหรัฐฯ จะกำหนด Local Content ไว้ในระดับใด ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่ไทยต้องวิเคราะห์และกำหนดท่าทีอย่างรอบคอบ ส่วนสินค้า Transshipment กระทรวงพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามากขึ้นแล้ว
นายพิชัยเน้นว่า การเปิดตลาดของไทยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ และลดผลกระทบต่อภาคเกษตรและผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะสินค้าและวัตถุดิบที่ไทยมีความต้องการใช้อยู่แล้ว เช่น ถั่วเหลืองสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ พลังงาน รวมถึงสินค้าที่ไทยมี FTA กับประเทศอื่นอยู่แล้วและสามารถนำเข้าได้โดยไม่เสียภาษี เช่น ปลานิลหรือลำไย ที่สหรัฐฯ ขอให้ไทยเปิดตลาด ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบเกษตรกรไทย หรือสินค้าประเภทยานยนต์ที่มีผู้จำหน่ายอยู่แล้วในประเทศ
ในส่วนของมาตรการรองรับ นายพิชัยระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบการสนับสนุนการลงทุน การเข้าถึงสินเชื่อ วงเงินรวม 200,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับธนาคารรัฐและเอกชน โดยจะเป็นเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างต้นทุน และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสายการผลิตให้สอดรับกับเงื่อนไขใหม่
ท่ามกลางวิกฤตก็มีโอกาส นายพิชัยกล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ควรมองเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออกที่ควรเพิ่มการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ลดความเปราะบางจากการนำเข้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวควรปรับตัวสู่แนวทาง “ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” สร้างมูลค่าแทนการเน้นจำนวนนักท่องเที่ยว และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป. 512 - สำนักข่าวไทย