กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – สภาผู้บริโภค เผยผู้บริโภคบ่นฉ่ำ ทรูเน็ตล่ม “เยียวยา” หรือแค่ “ปลอบใจ” เรียกร้อง กสทช. กำหนดมาตรการเยียวยาให้เหมาะสม เตรียมทำโพลสำรวจความเห็นประชาชน เสนอรัฐหนุน NT
นางสาวจุฑา สังขชาติ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวสำนักข่าวไทย อสมท ถึงเหตุการณ์ ระบบอินเทอร์เน็ตของทรูล่มทั่วประเทศ เมื่อวานนี้ (22 พ.ค) ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. จนถึงช่วงค่ำ ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานจำนวนมากไม่สามารถติดต่อสื่อสารหรือใช้งานบริการต่าง ๆ ได้ ทั้งมือถือ, อินเทอร์เน็ตบ้าน และแอปพลิเคชันที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายทรู โดยทรูมีผู้ใช้บริการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57.79% ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความเสียหายของประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ใช้บริการทรูที่มีทั้งประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ไรเดอร์ ยังมีลูกค้านิติบุคคลรวมไปถึงประชาชนที่ต้องติดต่อกับบริษัทห้างร้านนั้น ประเมินมูลคความเสียหายมหาศาล
โดยทรู ได้ออกมาชี้แจงว่าความเสียหายไม่ได้ล่มทั้งระบบ แต่เป็นบางจุดบางส่วน และเตรียมมาตรการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทรู มอบดาต้าฟรี 10GB และโทรฟรี 100 นาที ใช้งานได้ 24 ชั่วโมงนั้น มองว่า ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกว่าเป็นการปลอบใจก็พอรับได้ เพราะเงื่อนไขให้ใช้ได้แค่ 24 ชั่วโมง และต้องลงทะเบียน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนจะสามารถใช้ได้ ขณะที่บางคนอาจได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่านั้น เพราะทราบมาว่ามีบางกรณีอยู่ระหว่างการเรียกรถฉุกเฉินแล้วไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมกว่านี้ เช่น ลดค่าโทรรายเดือน แพ็คเกจเสริมสำหรับลูกค้าเติมเงิน โดยให้ทันทีแบบไม่ต้องลงทะเบียน
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควรต้องสอบสวนให้เกิดความชัดเจน ทั้งผลกระทบและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมไปถึงมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ซึ่ง กสทช. ควรจะเป็นผู้กำหนดมาตรการเยียวยาเป็นลำดับขั้น โดยไม่ต้องร้องเรียนเป็นรายบุคคล แทนที่ผู้ให้บริการมือถือกำหนดเองอย่างเช่นในปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตเคยเกิดเหตุอินเทอร์เน็ตล่มลักษณะนี้หลายครั้ง เช่น 30 พฤษภาคม 2567 อินเทอร์เน็ตทรูล่มนานกว่า 5 ชั่วโมง 27 เมษายน 2568 อินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ล่มนานหลายชั่วโมง 10 พฤษภาคม 2567 สัญญาณมือถือของ AIS ขัดข้องในหลายพื้นที่ เป็นต้น บางครั้งก็ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ที่ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักเหลือเพียง 2 ราย กำลังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ สิทธิของผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ขณะที่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ ที่แม้มีสัดส่วนในตลาดโทรคมนาคมเพียง 1.26% (ประมาณ 1.4 ล้านเลขหมาย) แต่ยังมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังเห็น NT เป็นทางเลือกที่ 3 และต้องการยืนหยัดใช้บริการของ NT จึงเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุน NT ให้ดำรงอยู่ในตลาดโทรคมนาคม และพัฒนาให้เป็นคู่แข่งที่สามในตลาด ที่จะสามารถเป็นกลไกถ่วงดุลและให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเปิดให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้สามารถร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 หรือ เว็บไซต์สภาผู้บริโภค หรือร้องเรียนผ่านหน่วยงานประจำจังหวัดทั้ง 20 แห่งของสภาผู้บริโภค ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเพื่อรวบรวมข้อมูลและดำเนินการในเชิงนโยบายหรือกฎหมาย หากไม่มีการดำเนินการเยียวยาอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการ.-516-สำนักข่าวไทย