กรุงเทพฯ 29 เม.ย.- ตลท.ครบรอบ 50 ปี จัดกิจกรรม “ธรรมะ ทำดี” ประธานบอร์ด ตลท. ชี้ ESG คือ ธรรมมะในตลาดทุน ผู้บริหารตลาดทุน-เจ้าของกิจการ ควรยึดหลัก พรหมวิหาร4 ดูแล Stakeholders
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดกิจกรรมโครงการ “ธรรมะ ทำดี” ครั้งที่ 1 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รับฟังบรรยายธรรมจาก พระพรหมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) หัวข้อธรรม “มรรคใหญ่ใฝ่สูง” ภายในงานยังมีการแสดงดนตรีจาก “ วงปล่อยแก่” ภายใต้โครงการดนตรีพลังบวกของมูลนิธิอาจารย์สุรีเจริญสุข และออกบูธร้านค้าในวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 10 องค์กร
ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางใจ สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้วยความเพียรและซื่อตรงตามแนวทางธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยพระอาจารย์ชยสาโร ได้พูดถึงเรื่องธรรมาภิบาลในตลาดทุน ความซื่อสัตย์สุจริต การดูแลผู้มีส่วนใดส่วนเสีย (Stakeholders) และผู้ถือหุ้นที่ต้องทำควบคู่กัน ชีวิตคนเราต้องมีแนวทางที่จะทำให้มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้นเหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎกติกาสำหรับผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในตลาดทุนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องทุกคน


สิ่งสำคัญที่พระอาจารย์ชยสาโร พูดถึงตลาดทุนคือคำว่า “ไม่แน่” อะไรก็ไม่แน่ หุ้นจะขึ้นจะลงก็ไม่แน่ อย่าไปคาดหวังว่ามันจะเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา มันเกิดจากเหตุและปัจจัยหวังว่านักลงทุนผู้ถือหุ้นผู้เกี่ยวข้องจะได้ตระหนักถึงเรื่องนี้
ทั้งนี้มองว่า ธรรมะที่สำคัญกับตลาดทุน คือ ESG ที่มีทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงหากผู้บริหารในตลาดทุน และเจ้าของกิจการมีพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็จะตอบโจทย์เรื่อง ESG โดยหวังว่า กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนมีธรรมะอยู่ในใจ การมีหลักธรรมทำให้การจัดการธุรกิจรอบคอบขึ้นบนข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่ทำอะไรโดยมีความเสี่ยงเกินไป
“ในภาะวะตลาดที่ผันผวนแบบนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังใช้สมาธิค่อยๆ คิดว่าอย่าไปกังวลบางเรื่องอย่ารีบขาย อย่ารีบซื้อ ถ้าไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง เจ้าของธุรกิจก็ต้องระมัดระวัง เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก ต้องประเมินความเสี่ยง คำนึงถึงหลายเรื่องในการทำธุรกิจ แต่ถ้าเราทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเมื่อเกิดวิกฤติเราก็จะสามารถผ่านไปได้ หรือในภาษาธรรมะก็พูดว่า ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม“ ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย

