ทำเนียบฯ 8 เม.ย. – นายกฯ ถกหลายหน่วยงานรับมือ “ทรัมป์” ขึ้นภาษี ปัดฝุ่นกองทุนเยียวยา ใช้วิกฤติพลิกโอกาสปฏิรูปเศรษฐกิจไทย คลังจ้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องรับมือ ”ทรัมป์“ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าไทยร้อยละ 36 มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกาในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นสหรัฐได้ตอบรับหนังสือนัดดังกล่าว จัดตารางเวลาให้เหมาะสม
ที่ประชุมวันนี้เร่งหารือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยและหาแนวทางเยียวยา ประชาชนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษี โดยพร้อมพิจารณานำกองทุนชดเชยความเสียหายจากการค้าระหว่างประเทศนำมาดูแล ตลอดจนใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศ การส่งเสริมหาตลาดใหม่เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สาเหตุของสหรัฐปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจากไทยร้อยละ 36 เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยนานกว่า 30 ปี ขณะนี้ขาดดุลกับไทย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหมือนกับหลายประเทศที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐ ปัจจุบัน สหรัฐฯ ประสบปัญหาหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 123 ของจีดีพี นอกจากนี้ต้องติดตามการย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐ ในระยะปานกลางระยะยาวเป็นอย่างไรบ้าง ไทยพร้อมพิจารณาลดภาษีศุลกากร ซึ่งตั้งไว้เป็นกำแพงภาษี แต่ไม่ได้จัดเก็บจริงในปัจจุบันจากสินค้าหลายประเภท
การใช้แนวทางนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จากปัจจุบันไทยผลิตอาหารสัตว์ส่งออก 20 ล้านตันต่อปี แต่ใช้วัตถุดิบพืชผลทางการเกษตรในประเทศ 9 ล้านตัน จึงมีช่องทางนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐในราคาที่แข่งขันกับตลาดได้ รวมถึงการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ ถือว่าราคาถูกกว่าประเทศคู่แข่ง จึงต้องพิจารณาค่าขนส่งหรือหาแนวทางให้เอกชนไทยไปขยายการลงทุนที่อลาสก้า ตลอดจนการนำเข้าเครื่องในสัตว์ เนื่องจากคนเอเชียนิยมบริโภค ไทยจึงสามารถนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐได้เพิ่มขึ้น หวังว่าไทย-สหรัฐ จะสมดุลการค้า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กำหนดการเดินทางไปเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ ต้องจัดเตรียมข้อมูลความต้องการของสหรัฐจากการปรับเพิ่มภาษี รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบแนวทางแก้ปัญหาของไทยให้มีความชัดเจนเพราะไม่ต้องการรียเร่ง เดินทางไปเจรจา เห็นตัวอย่าง หลายประเทศเข้าไปเจรจาแต่ไม่ได้รับผลตอบรับจากสหรัฐ ยอมรับการผนึกกำลังกับกลุ่มอาเซียน อาจต้องใช้เวลาในการต่อรอง แต่ละประเทศในอาเซียนมีพื้นฐานเศรษฐกิจต่างกัน ไทยจึงเลือกเจรจาแบบทวิภาคี ยอมรับว่า ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว อาจต้องใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เกิดการลงทุนในหลายด้าน อาจจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 70 ของจีดีพี เพื่อกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้เข้มแข็งในระยะยาว
ส่วนกรณีดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงสั่งการให้สำนักงาน ก.ล.ต. ออกกฎเกณฑ์ห้ามขายชอร์ตเซล เป็นการชั่วคราว ป้องกันแรงเทขายเพิ่มซ้ำเติมตลาดหุ้นไทย หากนักลงทุนซึมซับข้อมูลและประเมินสภาพตลาดนิ่งแล้วรัฐบาลพร้อมยกเลิกการห้ามขายชอร์ตเซลล์ เพราะท้ายที่สุดเงินลงทุนจากการขายหุ้นออกไปซื้อพันธบัตรสหรัฐจำนวนมาก จะมีแรงกดดันให้ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐปรับลดลง
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ รองรับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรของ “ทรัมป์” ในช่วงต้นเดือนมกราคม 68 นับว่าเตรียมตัวรับมือผลกระทบดังกล่าวมาแล้วในระดับหนึ่ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง พาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ต่างประเทศ สภาพัฒน์ บีโอไอ ได้ร่วมกันเสนอแนวทางในที่ประชุมวันนี้เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน. -515 -สำนักข่าวไทย