กรุงเทพฯ 14 มี.ค.- รมว.พาณิชย์ เชื่อมั่นกรณีสมาชิกสภายุโรป (European Parliament) ประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ไม่กระทบเจรจา FTA ไทย-อียู มั่นใจเจรจาเสร็จ 25 ธ.ค.ปีนี้
จากกรณี สมาชิกสภายุโรป (European Parliament) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.68 ลงคะเเนนรับรองญัตติประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปยังจีน และเรียกร้องให้ไทยยุติการบังคับเนรเทศบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงและสมาชิกสภาฯยังเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปต่อรองกับไทยผ่านความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ ) เพื่อกดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และยับยั้งการเนรเทศชาวอุยกูร์นั้น
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าไม่กระทบ ซึ่งตนได้หารือ กับ นายมารอส เซฟโควิช (H.E. Mr. Maroš Šefčovič) กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และความโปร่งใส บรรยากาศเป็นไปด้วยดี โดยการทำการค้าและ การเจรจา การค้า ยังดำเนินต่อไป ในส่วนการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-อียู กำลังลงรายละเอียด มั่นใจว่าเจรจาจะเสร็จ ได้ภายในวันที่ 25 ธ.ค.ปีนี้
นายพิชัย ย้ำด้วยว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาได้หารือผ่านระบบประชุมทางไกลกับ นายมารอส เพื่อผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EU) ทั้งสองฝ่ายได้แสดงจุดยืนร่วมกันว่า การเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ไว้ใจได้และมีเสถียรภาพ” (trusted and predictable) ผ่านการจัดทำ FTA เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
นายพิชัย ระบุว่า EU เป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นพันธมิตรทางการค้ารายสำคัญของไทย หากสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ได้ จะช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยในการแข่งขันระดับโลก ลดต้นทุนการผลิต ดึงดูดการลงทุน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้ การเจรจา FTA ไทย-EU ดำเนินไปแล้ว 4 รอบ โดยสามารถสรุปผลการเจรจาได้ 2 บท และเริ่มหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้าและบริการแล้ว สำหรับการเจรจารอบที่ 5 ฝ่าย EU จะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-4 เมษายน 2568 โดยไทยกับอียูจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบรรลุผลการเจรจา FTA ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2568
นอกจากการหารือกับกรรมาธิการยุโรป นายพิชัยยังได้พบปะ นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูต EU ประจำประเทศไทย เพื่อหารือประเด็นการค้าอื่นๆ อาทิ กระบวนการระงับข้อพิพาทในองค์การการค้าโลก (WTO) การนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาด EU ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของ EU
โดย EU เป็น คู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย (รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น)มีมูลค่าการค้ารวม 43,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.54 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 7.17% ของการค้ารวมของไทยกับโลก ไทยส่งออกไป EU มูลค่า 24,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 850,000 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญอาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และชิ้นส่วน และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 19,328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 687,000 ล้านบาท) สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องบินและอุปกรณ์การบินเคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้า.-511.-สำนักข่าวไทย